ไปยังหน้า : |
อีกอย่างหนึ่งที่โยงกับเมื่อกี้ คือว่า เพราะมีความสุขอย่างสมบูรณ์ โล่ง ไม่มีอะไรค้างคาระคายเลยนี้แหละ พระอรหันต์จึงสัมผัสเข้าถึงสิ่งที่จะทำให้เกิดความสุขได้ทันที เช่น ถึงกันกับธรรมชาติ ไม่มีอะไรในใจของตัวที่จะมากีดมากันมาขวางมากั้น
เหมือนอย่างพระอรหันต์ขึ้นบนภูเขา เข้าไปในป่า ก็เกิดความสุขฉับพลัน พอมาสัมผัสธรรมชาติ ท่านก็มีความสุขทันที
ไม่เหมือนคนที่ยังมีทุกข์ มีเชื้อทุกข์อยู่ เข้าไปในที่ๆ น่าจะมีความสุข แต่เจ้าตัวความกังวล ความห่วง ความไม่สบายใจ ความคิดถึงการแข่งขัน เรื่องการค้าขาย เรื่องการเมือง ฯลฯ อะไรต่างๆ สารพัด ก็ตามไปรังควานใจ ทำให้สัมผัสไม่ถึงความสุข หรือแม้สุข ก็สุขไม่ได้เต็มที่
สำหรับพระอรหันต์นั้น สภาพแวดล้อมทั่วไป มีแต่สิ่งที่มาเสริมความสุขให้ จนกระทั่งถึงว่า แม้แต่สิ่งที่ไม่เอื้อ ก็เป็นที่รื่นรมย์ได้หมด และไม่เฉพาะตัวท่านเองที่มีความสุขพร้อมอยู่เสมอแล้วเท่านั้น ผู้คนอื่นมาอยู่ใกล้ท่าน สภาพที่เคยวุ่นวาย ก็กลายเป็นที่สบายใจไปด้วย ดังที่มีคำตรัสเป็นคาถาธรรมบทว่า2171
คาเม วา ยทิ วารญฺเ นินฺเน วา ยทิ วา ถเล
ยตฺถ อรหนฺโต วิหรนฺติ ตํ ภูมิรามเณยฺยกํ
แปลว่า: ไม่ว่าบ้าน ไม่ว่าป่า ไม่ว่าที่ลุ่ม ไม่ว่าที่ดอน ท่านผู้ไกลกิเลสอยู่ที่ไหน ที่นั้นไซร้ เป็นภูมิสถานอันรื่นรมย์
พระอรหันต์จะไปอยู่ที่ไหน ท่านเองก็ร่าเริงใจได้หมด แล้วก็พาคนอื่นให้รื่นรมย์ไปด้วย ท่านสามารถมองสิ่งปฏิกูล ของน่ารังเกียจ ให้ดูดีน่าสบายใจ ก็ได้ เพราะมีอำนาจบังคับสัญญาตามต้องการ (เป็นภาวิตินทรีย์)
นี่ก็เป็นเรื่องของความสามารถในการมีความสุข ที่ว่าเป็นไปเองตามการพัฒนาของมนุษย์
การปฏิบัติธรรมนั้น ถ้าถูกทางแล้ว ความสุขก็จะเลื่อนขั้นพัฒนาไปอย่างนี้ เมื่อความสุขสมบูรณ์ ธรรมอื่นก็สมบูรณ์ด้วย เป็นไปเองตามกระบวนการธรรมชาติ อย่างเรื่องแม่ไก่ฟักไข่ จึงแน่นอน ไม่มีอะไรจะต้องสงสัย
จึงได้บอกไว้ จะพูดว่า พระพุทธศาสนาคือระบบการพัฒนาความสุขก็ได้ จะพูดว่ากระบวนการกำจัดทุกข์ก็ได้ จะพูดว่าอะไร เมื่อเข้าแนวธรรม ลงกับธรรมดาของธรรมชาติ ก็พูดได้ทั้งนั้น ทั้งหมดก็เป็นแง่ความหมายที่มาโยงถึงเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
ยังไม่จบ ขอบอกเพิ่มว่า ความสุขที่บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้น ปรากฏเป็นคุณสมบัติที่มีความหมายแผ่ขยายออกไป ที่ควรต้องกล่าวไว้อีกอย่างหนึ่ง คืออะไร