| |
ลุนิพพาน ถึงวิมุตติ สุขเต็มสุดแล้ว จะเลือกสุขอย่างไหนก็ได้ ทำไมมองลงมาไม่ถึงกามสุข  |   |  

บางคนเป็นห่วงกามสุข กลัวว่าถ้าไปนิพพานเสียแล้ว เขาจะไม่ได้เสวยกามสุข อาจบอกเขาได้ว่า อย่ากลัวเลย ถ้าท่านไปทางนิพพาน ท่านจะได้รู้จักความสุขมากอย่างยิ่งขึ้น มีความสุขที่ดีกว่า เยี่ยมกว่าอีกด้วย ท่านจะมีความสุขให้เลือกเสพได้มากขึ้น และเมื่อถึงเวลานั้น ถ้าท่านยังอยากเสพกามสุข ท่านก็เสพได้ และจะเสพได้ดียิ่งกว่าเดี๋ยวนี้ เพราะจะไม่มีอะไรรบกวนให้เสียรสเลย

เมื่อว่าอย่างนี้ บางคนอาจค้านขึ้นโดยเป็นห่วงในทางตรงข้ามว่า จะให้คนบรรลุนิพพานแล้วเสพกามสุขได้อย่างไรกัน

พึงตอบว่า เรื่องอย่างนี้ไม่ต้องเป็นห่วง เป็นเรื่องธรรมดาที่จะเป็นไปเอง ไม่ต้องไปกังวล คนที่ถึงนิพพานแล้ว เป็นผู้มีสิทธิ และเป็นผู้พร้อมดีที่สุด ที่จะเสวยความสุขได้ทุกอย่าง การที่เขาจะเสพความสุขอย่างใดหรือไม่เสพ ก็เป็นเรื่องสุดแต่ความพอใจของเขาเอง

แต่ทีนี้ ธรรมดาปรากฏเป็นของมันเองว่า ผู้ที่บรรลุนิพพานแล้วไม่เสพกามสุข ที่เขาไม่เสพ มิใช่เพราะเขาเสพไม่ได้ แต่เป็นเพราะเขาไม่นึกอยากจะเสพ คือกิเลสที่เป็นเหตุให้อยากเสพไม่มี เขาได้ประสบสิ่งอื่นที่ดีกว่า จนไม่เห็นกามคุณนั้นมีคุณค่าที่เขาจะเกี่ยวข้องเสพเสวยเสียแล้ว

เรื่องนี้ก็คล้ายกันกับความคิดที่ว่า พระอรหันต์บรรลุญาณทัสสนะ มองเห็นตามเป็นจริงว่า สิ่งทั้งหลายเป็นอนัตตา ไม่มีตัวตน คนเป็นเพียงส่วนประกอบต่างๆ มีธาตุ ๔ เป็นต้น มาประชุมกันเข้า ไม่มีนาย ก. นาง ข. เป็นต้น เมื่อเห็นอย่างนี้แล้ว ก็คงฆ่าคนได้ไม่บาป แต่ความจริง เมื่อมองเห็นอนัตตาเช่นนั้น กิเลสคือโทสะที่จะเป็นเหตุให้ทำการฆ่า ก็หมดไปเสียแล้ว การฆ่าก็เลยไม่มีทางที่จะเกิดมีขึ้นมาได้

ความเป็นจริงในเรื่องนี้ปรากฏว่า ผู้ได้นิพพานสุขแล้ว จะเสวยความสุขลงมาถึงชั้นฌานสุข ดังที่กล่าวว่าใช้ฌาน ๔ เป็นทิฏฐธรรมสุขวิหาร คือเป็นเครื่องพักผ่อนอยู่สบายในปัจจุบัน

เรื่องผู้บรรลุนิพพานไม่เสพโลกามิส ไม่แสวงกามสุขนี้ เปรียบอย่างหนึ่ง เหมือนคนเคยอยู่ในที่คุมขัง เขาได้อาศัยบางสิ่งบางอย่างในที่นั้น ช่วยทำให้เกิดความสนุกสนานเพลิดเพลิน เสมือนกลบหรือทำให้ลืมความคับแคบอึดอัดไปได้บ้าง ต่อมา เมื่อมีโอกาสหลุดออกไปจากสถานที่นั้น บางคนอาจติดใจสิ่งที่เคยให้ความสนุกสนานเพลิดเพลินจนไม่ยอมออกไป บางคนพะว้าพะวังลังเลอยู่ แต่คนที่ได้รู้จักอิสรภาพอย่างแท้จริงแล้ว จะค่อยๆ ตัดใจได้ และไม่ช้า ก็จะไม่ห่วงอาลัยที่คุมขังนั้นอีกต่อไป

ท่านที่แนะนำชักชวนทั้งหลาย เช่นพระพุทธเจ้า ได้เคยเริงรมย์ในกามสุขมาก่อนแล้ว และต่อมาได้รู้จักสุขที่ประณีตขึ้นไป ทั้งฌานสุข และนิพพานสุข เป็นอันว่าได้รู้จักความสุขทุกประเภท การที่มาแนะนำชักชวนนั้น ก็ย่อมเป็นไปด้วยความรู้จริง โดยได้ผ่านประสบการณ์จริง เป็นเครื่องยืนยันอย่างแน่นแฟ้นว่า สุขใดที่ท่านว่าดี หรือไม่ดี หรือว่าอย่างไหนดีกว่า ก็ควรจะเป็นเช่นนั้นจริง

เมื่อเปรียบเทียบกับสุขที่ประณีต โดยเฉพาะนิพพานสุข กามสุขมีส่วนเสียหรือข้อบกพร่องดังที่ควรกล่าวถึงนอกเหนือจากที่กล่าวมาแล้ว หรือที่ควรย้ำไว้อีก ดังนี้

๑. ทำให้ชีวิตขึ้นกับสิ่งภายนอก ไม่อิสระ ไม่เป็นตัวของตัวเอง แม้กระทั่งเป็นทาสของวัตถุ ซึ่งมักหลอกให้นึกว่าเราเป็นเจ้าของบังคับมันได้ แต่ยิ่งเข้ายึดถือครอบครองมันจริงจังมากเท่าใด เราก็ยิ่งหมดอำนาจในตัว ก็กลายเป็นทาสของมันมากขึ้นเท่านั้น

ความเป็นทาส หรือขึ้นต่อกามคุณนั้น เป็นไปทั้ง ๒ ขั้นตอน คือ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |