| |
จะสุขง่าย ทุกข์ได้ยาก หากฝึกไว้  |   |  

ได้บอกแล้วว่า ความสุขประเภทแรก คือ ความสุขจากการเสพ ความสุขอิงอามิส หรือกามสุข นั้น เป็นเรื่องใหญ่ที่สุดของโลกมนุษย์ ต้องระวังที่จะจัดการให้ดี เพราะเป็นความสุขแบบแย่งกัน จึงต้องรู้จักควบคุม

ดังที่ตรัสศีล ๕ ไว้ ก็เพื่อมาคุมเรื่องการหา และการเสพวัตถุ ให้อยู่ในขอบเขต จะหาจะเสพกันแค่ไหน จะแข่งจะแย่งชิงกันไป ก็อย่าให้ถึงกับเดือดร้อนนักหนา เบียดเบียนกันจนเป็นยุคมิคสัญญี

เมื่อมนุษย์อยู่ในศีล ๕ ก็พออยู่กันไปได้ แต่ไม่เป็นหลักประกันว่าจะมีความสุขอะไรได้มาก ถ้าจะให้ชีวิตและสังคมดีขึ้น ก็ต้องพัฒนากันต่อไป ท่านจึงบอกศีล ๘ ให้เอามาฝึกตนเพิ่มขึ้น

หลักการของศีล ๘ นั้น ก็คือว่า หลังจากเราปล่อยตัว หาความสุขจากการพึ่งพาวัตถุเสพมา ๗ หรือ ๘ วันแล้ว ก็ขอพักเสียวันหนึ่ง มาอยู่ง่ายๆ อาศัยวัตถุ หรือของเสพน้อยๆ และเอาเวลาที่จะบำรุงบำเรอตัวเองนั้นไปทำประโยชน์อย่างอื่น โดยให้เป็นวันรักษาศีล ๘ วันหนึ่ง ตามหลักที่เรียกว่าถืออุโบสถ ในวันขึ้น ๘ และ ๑๕ ค่ำ แรม ๘ และ ๑๔ หรือ ๑๕ ค่ำ รวมเป็นเดือนละแค่ ๔ วัน

ศีล ๕ มุ่งที่จะไม่เบียดเบียนคนอื่นทั้งนั้น ศีล ๘ ก็เพียงเปลี่ยนข้อ ๓ ของศีล ๕ เป็นเว้นเมถุน แล้วก็เพิ่มมาอีก ๓ ข้อ โดยข้อที่เปลี่ยนและเพิ่มเข้ามานี้ ไม่เกี่ยวกับคนอื่นเลย เป็นเรื่องของตัวเองทั้งนั้น คือ

ข้อ ๖ เว้นจากการบริโภคอาหารในเวลาวิกาล คือ เที่ยงไปแล้วไม่กิน ไม่ต้องมัวบำเรอลิ้น

ข้อ ๗ เว้นจากการร้อง รำ ดนตรี ดูฟังการละเล่นต่างๆ ที่เป็นการหาความสุขด้วยการบำเรอตา บำเรอหู

ข้อ ๘ เว้นจากการเสพสุขบำเรอสัมผัสกาย ด้วยการนอนฟูกฟู หรูหรา หนานุ่ม

นี่คือ ใน ๘ วัน ก็เอาเป็นวันฝึกตัวเองเสียวันหนึ่ง เป็นวิธีการง่ายๆ ในการทำตัวให้สุขได้ง่าย และรักษาอิสรภาพในการมีความสุขไว้

ฝึกอย่างไร? คือ คนเราก็หาความสุขจากสิ่งเหล่านี้ เป็นเรื่องส่วนตัวตามปรารถนา แต่ท่านบอกว่า อันนี้เป็นเรื่องส่วนตัวของคุณก็จริง แต่ถ้าไม่ระวัง ความสุขของคุณจะไปขึ้นต่อสิ่งเหล่านี้ จะมีแต่ความสุขแบบพึ่งพา แล้วพึ่งพาเท่าไรก็ไม่พอ ก็ยิ่งหามาเสพมาครอบครอง จนเป็นเหตุให้แย่งชิงเบียดเบียนกันอย่างที่ว่าแล้ว เพราะฉะนั้น ให้ฝึกตัวไว้ รักษาอิสรภาพไว้

เราเคยตามใจตัว หรือค่อนข้างตามใจตัวเอง บำเรอลิ้นด้วยอาหาร หาความสุขจากการเสพรสอร่อยมา ๗ วัน ถึงวันที่ ๘ ก็ฝึกตัวด้วยศีลข้อ ๖ ลองดูว่าชีวิตจะอยู่ดีมีความสุขได้โดยไม่ต้องขึ้นกับอาหารที่ตามใจลิ้นได้ไหม


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |