| |
ความเข้าใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับคุณสมบัติสำคัญของบุคคลโสดาบัน

เนื่องด้วยธรรม ๕ ประการ คือ ศรัทธา ศีล สุตะ จาคะ และปัญญา เป็นคุณสมบัติสำคัญของอริยสาวก ซึ่งพระพุทธเจ้าได้ตรัสเน้นอยู่เสมอ และใช้เป็นเครื่องวัดความเจริญก้าวหน้าของอริยสาวก ทั้งก่อนบรรลุโสดาปัตติผล และเมื่อเป็นพระโสดาบันแล้ว นอกจากนั้น ยังมีขอบเขตครอบคลุมโสตาปัตติยังคะ (องค์คุณของพระโสดาบัน) เข้าไว้ทั้งหมด จึงเห็นควรกล่าวถึงคุณสมบัติ ๕ ข้อนี้ไว้เป็นการเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง

ในการนี้ ขอให้สังเกตคุณสมบัติข้อที่ ๑ คือ ศรัทธาไว้เป็นพิเศษ ว่าเหตุใดจึงเป็นคุณสมบัติที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในทุกกรณี สำหรับการปฏิบัติระดับนี้ ทั้งที่พระพุทธศาสนาเป็นศาสนาแห่งปัญญา ถือปัญญาเป็นธรรมสำคัญสุดยอดในกระบวนการปฏิบัติ

เมื่อพูดอย่างภาษาของคนสมัยปัจจุบัน ธรรม ๕ ประการ ที่เรียกรวมว่า สัมปทา บ้าง ทรัพย์ บ้าง อริยาวัฒิ (อารยวัฒิ) บ้าง มีความหมายโดยย่อ ดังนี้

๑. ศรัทธา คือ ความเชื่อ ความมั่นใจ เพราะได้พิจารณาไตร่ตรองมองเห็นเหตุผลด้วยปัญญาแล้ว แยกย่อยออกได้เป็น ๓ ด้าน คือ

ก. ความเชื่อ ความมั่นใจในพระพุทธเจ้า ในฐานะที่เป็นบุคคลต้นแบบ ซึ่งยืนยันถึงวิสัยความสามารถของมนุษย์ว่า มนุษย์สามารถหยั่งรู้สัจธรรม เข้าถึงความจริงและความดีงามสูงสุดได้ ด้วยสติปัญญา และความเพียรพยายามของมนุษย์เอง

มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ เจริญงอกงามขึ้นได้ ทั้งในด้านระเบียบชีวิต ที่สัมพันธ์กับสภาพแวดล้อมทางกายวาจา ทั้งในด้านคุณธรรม ที่พึงอบรมให้แก่กล้าขึ้นในจิตใจ ทั้งในด้านปัญญาความรู้คิดเหตุผล จนสามารถหลุดพ้นจากเครื่องผูกมัดบีบคั้น ที่เรียกว่ากิเลสและกองทุกข์ ทำทุกข์ให้สิ้นไป ประสบความเป็นอิสระดีงามเลิศล้ำสมบูรณ์ได้ และในการที่จะเข้าถึงภาวะเช่นนี้ ย่อมไม่มีสัตว์วิเศษใดๆ ไม่ว่าจะโดยชื่อว่า เทพ มาร หรือพรหม ที่จะเป็นผู้ประเสริฐ มีความสามารถเกินกว่ามนุษย์ ซึ่งมนุษย์จะต้องหันไปหา หรือรีรอเพื่อขอฤทธานุภาพดลบันดาล

อนึ่ง บุคคลผู้ฝึกตนจนลุถึงภาวะนี้แล้ว ย่อมมีคุณความดีพิเศษมากมาย ซึ่งสมควรดำเนินตาม และเมื่อมนุษย์มั่นใจในความสามารถที่จะทำเช่นนั้นได้ ก็ควรพยายามปฏิบัติสร้างคุณความดีพิเศษนั้นให้มีขึ้นในตน หรือปฏิบัติให้เข้าถึงธรรมที่บุคคลต้นแบบนั้นได้ค้นพบและนำมาแสดงไว้แล้ว

ข. ความเชื่อ ความมั่นใจในธรรม ทั้งความจริงและความดีงาม ที่บุคคลต้นแบบซึ่งเรียกว่า พระพุทธเจ้าได้แสดงไว้นั้น ว่าเป็นสิ่งที่พระองค์ได้ปฏิบัติเห็นผลประจักษ์กับตนเองมาก่อน เรียกว่าค้นพบแล้ว จึงนำมาประกาศเปิดเผยไว้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |