| |
พอจะได้ใจพองฟูขึ้นไป เป็นปีติ ได้สมใจสงบลงมา เป็นความสุข  |   |  

ก่อนจะพูดต่อไปถึงหลักในการปฏิบัติจัดการกับความต้องการ ขอแทรกเรื่องน่ารู้ ที่จะช่วยให้เข้าใจหรือรู้จักความสุขได้ชัดเจนมากขึ้น

ได้บอกแล้วว่า ความสุข คือการได้สนองความต้องการ หรือความสมอยากสมปรารถนา

ที่จริง ความสมอยาก หรือการได้สนองความต้องการนั้น พูดอีกสำนวนหนึ่ง ก็คือ การทำให้ความต้องการสงบระงับไปนั่นเอง เหมือนอย่างระงับความกระหาย ด้วยการดื่มน้ำ หรือระงับความหิว ด้วยการกินอาหาร เมื่อความหิวคือความต้องการอาหารสงบไป หรือเมื่อความกระหายคือความต้องการน้ำสงบไป ก็เป็นความสุข

ดังนั้น เมื่อพูดตามความหมายนี้ ความสงบระงับไปของความต้องการนั่นเอง เป็นความสุข หรือพูดให้สั้นว่า ความสุขคือความสงบ

ทีนี้ ในการสนองความต้องการ หรือสมอยากสมปรารถนานั้น จิตใจกว่าจะมาถึงความสงบที่เป็นภาวะแห่งความสุข บางทีก็ได้ประสบหรือได้เสวยภาวะที่น่าชื่นชมยินดีมาเป็นลำดับหลายขั้นหลายอย่าง โดยเฉพาะที่เด่นก็คือ “ปีติ” ซึ่งมักพูดเข้าคู่เข้าชุดกันว่า “ปีติสุข”

ถ้าเรามองเห็นและเข้าใจภาวะจิตที่เป็นขั้นตอนต่างๆ ในกระบวนการสนองความต้องการนี้แล้ว ก็จะเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นว่าความสุขเป็นความสงบอย่างไร และความสงบนั้น มีความหมายสำคัญแค่ไหนและดีอย่างไร


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |