ไปยังหน้า : |
ปรโตโฆสะ หรือเสียงจากผู้อื่น ที่จะให้เกิดสัมมาทิฏฐิได้ ก็คือ เสียงที่ดีงาม เสียงที่ถูกต้อง เสียงที่บอกกล่าวชี้แจงความจริง มีเหตุผล เป็นประโยชน์ เฉพาะอย่างยิ่งที่เกิดจากความรักความปรารถนาดี
เสียงดีงามถูกต้องเช่นนี้ เกิดจากแหล่งที่ดี คือคนดี คนมีปัญญา คนมีคุณธรรม คนเช่นนี้ทางธรรม เรียกว่า สัตบุรุษ 1143 บ้าง บัณฑิตบ้าง ถ้าคนดีคือสัตบุรุษ หรือบัณฑิตนี้ ไปทำหน้าที่ช่วยเหลือแนะนำ สั่งสอนชักนำสัมมาทิฏฐิให้แก่ผู้อื่น ก็เรียกว่าเขาทำหน้าที่เป็น กัลยาณมิตร
แต่บุคคลผู้แสวงสัมมาทิฏฐิ ไม่จำเป็นต้องรอให้สัตบุรุษหรือบัณฑิตมาหาตน ตรงข้าม เขาย่อมกระตือ รือร้นที่จะไปหา ไปปรึกษา ไปสดับฟัง ไปขอคำแนะนำชี้แจงสั่งสอน เข้าร่วมหมู่อยู่ใกล้ ตลอดจนศึกษาแบบอย่างแนวทางจากบัณฑิตหรือสัตบุรุษนั้นเอง การกระทำของเขาอย่างนี้เรียกว่า การเสวนาสัตบุรุษ หรือคบหาคนดี1144
แต่ไม่ว่าสัตบุรุษจะมาทำหน้าที่ให้ หรือบุคคลนั้นจะไปคบหาสัตบุรุษเองก็ตาม ในเมื่อมีการยอมรับหรืออิทธิพลต่อกันเกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่าเขามีกัลยาณมิตร และเรียกภาวะนี้ว่า “กัลยาณมิตตตา” แปลว่า ความมีกัลยาณมิตร
กัลยาณมิตร มิได้หมายถึงเพื่อนที่ดีอย่างในความหมายสามัญเท่านั้น แต่หมายถึงบุคคลผู้เพียบพร้อมด้วยคุณสมบัติที่จะสั่งสอน แนะนำ ชี้แจง ชักจูง ช่วยบอกช่องทาง หรือเป็นตัวอย่างให้ผู้อื่นดำเนินไปในมรรคาแห่งการฝึกฝนอบรมอย่างถูกต้อง ในคัมภีร์วิสุทธิมัคค์ ท่านยกตัวอย่างเช่น พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ครู อาจารย์ และท่านผู้เป็นพหูสูตทรงปัญญา สามารถสั่งสอนแนะนำ เป็นที่ปรึกษาได้ แม้จะอ่อนวัยกว่า1145
ในกระบวนการพัฒนาปัญญา ความมีกัลยาณมิตรนี้ จัดว่าเป็นระดับความเจริญปัญญาในขั้นศรัทธา
ส่วนในระบบการศึกษาอบรม ความมีกัลยาณมิตรควรมีความหมายครอบคลุมทั้งตัวบุคคลผู้อบรมสั่งสอน เช่น พ่อแม่ ครู อาจารย์ เป็นต้น ทั้งคุณสมบัติของผู้สอน ทั้งหลักการ วิธีการ อุปกรณ์ อุบายต่างๆ ในการสอน และการจัดดำเนินการต่างๆ ทุกอย่าง ที่ผู้มีหน้าที่ให้การศึกษาจะพึงจัดทำ เพื่อให้การศึกษาอบรมได้ผลดี ตลอดจนหนังสือ สื่อมวลชน บุคคลตัวอย่าง เช่น มหาบุรุษ หรือผู้ประสบความสำเร็จโดยธรรม และสิ่งแวดล้อมทางสังคมทั้งหลายที่ดีงาม เป็นประโยชน์ เท่าที่จะเป็นองค์ประกอบภายนอกในกระบวนการพัฒนาปัญญานั้นได้