| |
คำแถมท้าย  |   |  

ย้อนกลับไปพูดถึงคฤหัสถ์ เห็นควรสรุปเรื่องนี้ ด้วยการกล่าวถึงข้อปฏิบัติบางอย่างที่ควรเน้นเป็นพิเศษเกี่ยวกับโภคทรัพย์ ดังนี้

ก. ในแง่บุคคล ควรดำเนินตามพุทธปฏิปทาที่นิยมยกย่องคนมั่งมีทรัพย์ เฉพาะแต่ผู้ที่ร่ำรวยขึ้นมาด้วยความขยันหมั่นเพียรโดยทางสุจริตชอบธรรม และใช้ทรัพย์นั้นทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญประโยชน์ คือ ยกย่องความเป็นคนดีมีประโยชน์ เหนือความมีทรัพย์

โดยเฉพาะ จะต้องฝึกสอนอบรมอนุชน (คนรุ่นใหม่) ให้มีค่านิยมที่จะเห็นเป็นความดีงามความสามารถอันน่าภาคภูมิใจ ต่อเมื่อได้สร้างสมโภคทรัพย์นั้น ด้วยความเพียรโดยสุจริต และมีความตั้งใจมุ่งหมายที่จะใช้ทรัพย์นั้นทำสิ่งที่ดีงาม บำเพ็ญประโยชน์

การนิยมยกย่องคนเพียงเมื่อเห็นเขาเป็นคนมั่งมี โดยคิดว่า เขาเป็นคนมีบุญ ได้ทำกรรมดีไว้ในปางก่อน (ชาติก่อน) ไม่มองดูการสร้างเหตุแห่งความมั่งมีของเขาในชาติปัจจุบัน นับว่าเป็นการปฏิบัติผิดจากแนวทางของพระพุทธศาสนาทั้งสองด้าน คือ ทั้งเป็นการไม่ดำเนินตามแบบอย่างของพระพุทธเจ้าดังที่กล่าวข้างต้น และทั้งเป็นการไม่ใช้ปัญญาสืบสาวเหตุปัจจัยให้ตลอดสาย

โดยเฉพาะเหตุปัจจัยในชาติปัจจุบัน เป็นส่วนที่สัมพันธ์โดยตรงใกล้ชิดกว่า จึงต้องพิจารณา และให้ความสำคัญมากกว่า ส่วนกรรมปางก่อน จะช่วยได้ ก็เพียงเป็นพื้นฐานเดิมที่สนับสนุน เช่น ร่างกาย ความถนัด เชาวน์ไวไหวพริบ และจริตนิสัยบางอย่างที่เกื้อกูลแก่การนั้น

หากจะมองกรรมปางก่อนเป็นเหตุสำคัญ ก็จะได้เฉพาะคนที่เกิดมาในครอบครัวที่มั่งมีอยู่แล้ว และแม้ในกรณีเช่นนี้ พระพุทธเจ้าก็หาได้ทรงยกเป็นข้อสำหรับที่จะยกย่องสรรเสริญไม่ เพราะหลักทั่วไปของพระพุทธศาสนา ไม่ถือความประเสริฐเพียงเพราะชาติตระกูลอยู่แล้ว

จุดที่พระพุทธเจ้าทรงสรรเสริญสำหรับบุคคลเช่นนั้น คือกรรมดีงามที่เป็นเหตุให้เขามาได้รับผลอันน่าปรารถนานี้ต่างหาก ส่วนการที่เขาเกิดมาในความมั่งมีพรั่งพร้อมอยู่แล้วนั้น ก็เป็นอันว่าเขาได้รับผลดีของเขาอยู่แล้ว ไม่จำต้องยกเอามาสรรเสริญอีก ตามหลักพุทธศาสนาถือว่า นั่นเป็นทุนเดิม หรือพื้นฐานดี ซึ่งทำให้เขามีโอกาสดี หรือพร้อมดีกว่าผู้อื่น หรือจะเรียกว่าได้เปรียบคนอื่น ในการที่จะก้าวต่อไปในชาตินี้

เป็นอันว่า ผลของเรื่องเก่าได้เสร็จสิ้นไปแล้ว ถึงจุดเริ่มต้นใหม่ จุดที่พระพุทธเจ้าจะทรงติเตียนหรือสรรเสริญสำหรับคนเช่นนี้ ก็อยู่ที่ว่า เขาจะปฏิบัติต่อทุนเดิมหรือพื้นฐานดีที่เขามีอยู่แล้วนั้นอย่างไร

ส่วนสำหรับกรณีทั่วไป ก็ดังที่กล่าวแล้วข้างต้น คือ จะทรงยกย่องสรรเสริญ หรือติเตียน ก็อยู่ที่ว่า กรรมอันเป็นวิธีที่เขากระทำเพื่อให้เกิดทรัพย์นั้น สุจริตชอบธรรมหรือไม่ และเขาปฏิบัติต่อโภคทรัพย์นั้นอย่างไร

พูดอีกอย่างหนึ่งให้ตรงจุดว่า มิใช่ความมั่งมี หรือคนมั่งมีดอก ที่พระพุทธเจ้าทรงติเตียนหรือสรรเสริญ พระพุทธเจ้าทรงติเตียนหรือสรรเสริญ ที่การกระทำของคนมั่งมีต่างหาก

ข. ในแง่สังคม ตามหลักพระพุทธศาสนา ทรัพย์เป็นอุปกรณ์ หรือเป็นปัจจัยอุดหนุนชีวิต ไม่ใช่จุดหมายของชีวิต ทรัพย์จึงควรเป็นเครื่องช่วยให้มนุษย์มีความสะดวกมากขึ้น และพร้อมมากขึ้น ในการที่จะดำเนินชีวิตที่ดีงาม และทำกิจที่ดีงาม เพื่อเข้าถึงสิ่งที่ดีงามยิ่งขึ้นไป

ทรัพย์เกิดขึ้นที่ไหน แก่บุคคลใด ก็ควรเกิดขึ้นเพื่อเกื้อกูลแก่มนุษย์ เป็นปัจจัยอุดหนุนให้มนุษย์ทั้งหลายสามารถดำเนินชีวิตที่ดีงาม พร้อมที่จะทำสิ่งที่ดีงามได้มากยิ่งขึ้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |