| |
๓. วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์  |   |  

วิธีคิดแบบสามัญลักษณ์ หรือ วิธีคิดแบบรู้เท่าทันธรรมดา คือ มองอย่างรู้เท่าทันความเป็นอยู่เป็นไปของสิ่งทั้งหลาย ซึ่งจะต้องเป็นอย่างนั้นๆ ตามธรรมดาของมันเอง โดยเฉพาะก็มุ่งที่ประดาสัตว์และสิ่งที่คนทั่วไปจะรู้เข้าใจถึงได้ ในฐานะที่มันเป็นสิ่งซึ่งเกิดจากเหตุปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น จะต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย

ธรรมดาที่ว่านั้น ได้แก่ อาการที่สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ที่เกิดจากปัจจัยปรุงแต่ง เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ก็จะต้องดับไป ไม่เที่ยงแท้ ไม่คงที่ ไม่ยั่งยืน ไม่คงอยู่ตลอดไป เรียกว่าเป็น อนิจจัง

ธรรมดานั้นเช่นกัน คือ อาการที่ปัจจัยทั้งหลายทั้งภายในและภายนอกทุกอย่าง ต่างก็เกิดดับเปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลาเสมอเหมือนกัน เมื่อเข้ามาสัมพันธ์กัน จึงเกิดความขัดแย้ง ทำให้สิ่งเหล่านั้นมีสภาวะถูกบีบคั้นกดดัน ไม่อาจคงอยู่ในสภาพเดิมได้ จะต้องมีความแปรปรวนเปลี่ยนสลาย เรียกว่าเป็น ทุกข์

ธรรมดานั้นเองมีพร้อมอยู่ด้วยว่า ในเมื่อสิ่งทั้งหลายเป็นสภาวะ คือมีภาวะของมันเอง ดังเช่นเป็นสังขารที่ต้องเป็นไปตามเหตุปัจจัย มันก็ไม่อาจเป็นของของใคร ไม่อาจเป็นไปตามความปรารถนาของใคร ไม่มีใครเอาความคิดอยากบังคับมันได้ ไม่มีใครเป็นเจ้าของครอบครองมันได้จริง เช่นเดียวกับที่ไม่อาจมีตัวตนขึ้นมาไม่ว่าข้างนอกหรือข้างในมัน ที่จะสั่งการบัญชาบังคับอะไรๆ ได้จริง เพราะมันเป็นอยู่ของมันตามธรรมดา โดยเป็นสังขารที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามใจอยากของใคร เรียกว่าเป็น อนัตตา

รวมความคือ รู้เท่าทันว่า สิ่งทั้งหลายที่รู้จักเข้าใจไปเกี่ยวข้องด้วยนั้น เป็นธรรมชาติ ซึ่งมีลักษณะความเป็นไปโดยทั่วไปเสมอเหมือนกันตามธรรมดาของมัน ในฐานะที่เป็นของปรุงแต่ง เกิดจากเหตุปัจจัย และขึ้นต่อเหตุปัจจัยทั้งหลายเช่นเดียวกัน

วิธีคิดแบบสามัญลักษณะนี้แบ่งได้เป็น ๒ ขั้นตอน

ขั้นที่หนึ่ง คือ รู้เท่าทัน และยอมรับความจริง เป็นขั้นวางใจวางท่าทีต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นท่าทีแห่งปัญญา ท่าทีแห่งความเป็นอิสระ ไม่ถูกมัดตัว

แม้เมื่อประสบสถานการณ์ที่ไม่ปรารถนา หรือมีเรื่องราวไม่น่าพึงใจเกิดขึ้นแล้ว คิดขึ้นได้ ว่าสิ่งนั้นๆ เหตุการณ์นั้นๆ เป็นไปตามคติธรรมดา เป็นไปตามเหตุปัจจัยของมัน คิดได้อย่างนี้ ก็เป็นท่าทีแห่งการปลงตก ถอนตัวขึ้นได้ หายจากความทุกข์ หรืออย่างน้อยก็ทำให้ทุกข์นั้นบรรเทาลง

ไวขึ้นไปอีก เมื่อประสบสถานการณ์มีเรื่องราวเช่นนั้นเกิดขึ้น เพียงตั้งจิตสำนึกขึ้นได้ในเวลานั้นว่า เราจะมองตามความเป็นจริง ไม่มองตามอยากให้เป็นหรืออยากไม่ให้เป็น การที่จะเป็นทุกข์ ก็ผ่อนคลายลงทันที เพราะเปลื้องตัวเป็นอิสระได้ ไม่เอาตัวเข้าไปให้ถูกกดถูกบีบ (ความจริงคือไม่สร้างตัวตนขึ้นให้ถูกกดถูกบีบ)

ขั้นที่สอง คือ แก้ไขและทำการไปตามเหตุปัจจัย เป็นขั้นปฏิบัติต่อสิ่งทั้งหลายโดยสอดคล้องกับความเป็นจริงของธรรมชาติ เป็นการปฏิบัติด้วยปัญญา ด้วยความรู้เท่าทัน เป็นอิสระ ไม่ถูกมัดตัว

ความหมายในข้อนี้คือ เมื่อรู้อยู่แล้วว่า สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ขึ้นต่อเหตุปัจจัย เราต้องการให้มันเป็นอย่างไร ก็ศึกษาให้รู้เข้าใจเหตุปัจจัยทั้งหลาย ที่จะทำให้มันเป็นอย่างนั้น แล้วแก้ไข ทำการ จัดการที่ตัวเหตุปัจจัยเหล่านั้น เมื่อทำเหตุปัจจัยพร้อมบริบูรณ์ที่จะให้มันเป็นอย่างนั้นแล้ว ถึงเราจะอยากหรือไม่อยาก มันก็จะต้องเป็นไปอย่างนั้น เมื่อเหตุปัจจัยไม่พร้อมที่จะให้เป็น ถึงเราจะอยากหรือไม่อยาก มันก็จะไม่เป็นอย่างนั้น กล่าวสั้น คือ แก้ไขด้วยความรู้ และแก้ที่ตัวเหตุปัจจัย ไม่ใช่แก้ด้วยความอยาก


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |