ไปยังหน้า : |
๑. อวิชชา (ignorance, lack of knowledge) = ความไม่รู้ ไม่เห็นตามความเป็นจริง ไม่รู้เท่าทันตามสภาวะ หลงไปตามสมมติบัญญัติ ความไม่รู้ที่แฝงอยู่กับความเชื่อถือต่างๆ ภาวะขาดปัญญา ความไม่เข้าใจเหตุผล การไม่ใช้ปัญญา หรือปัญญาไม่ทำงานในขณะนั้นๆ
๒. สังขาร (volitional activities) = ความคิดปรุงแต่ง ความจงใจ มุ่งหมาย ตัดสินใจ และการที่จะแสดงเจตนาออกเป็นการกระทำ; การจัดสรรกระบวนความคิด และมองหาอารมณ์มาสนองความคิด โดยสอดคล้องกับพื้นนิสัย ความถนัด ความโน้มเอียง ความเชื่อถือ และทัศนคติ เป็นต้น ของตน ตามที่ได้สั่งสมไว้; การปรุงแต่งจิต ปรุงแต่งความคิด หรือปรุงแต่งกรรม ด้วยเครื่องปรุง คือ คุณสมบัติต่างๆ ที่เป็นความเคยชินหรือได้สั่งสมไว้
๓. วิญญาณ (consciousness) = ความรู้ต่ออารมณ์ต่างๆ คือ เห็น ได้ยิน ได้กลิ่น รู้รส รู้สัมผัส รู้ต่ออารมณ์ที่มีในใจ ตลอดจนสภาพพื้นเพของจิตใจในขณะนั้นๆ
๔. นามรูป(animated organism) = ความมีอยู่ของรูปธรรมและนามธรรม ในความรับรู้ของบุคคล ภาวะที่ร่างกายและจิตใจทุกส่วนอยู่ในสภาพที่สอดคล้องและปฏิบัติหน้าที่เพื่อตอบสนองในแนวทางของวิญญาณที่เกิดขึ้นนั้น ส่วนต่างๆ ของร่างกายและจิตใจที่เจริญหรือเปลี่ยนแปลงไปตามสภาพจิต
๕. สฬายตนะ (the six sense-bases) = ภาวะที่อายตนะที่เกี่ยวข้องปฏิบัติหน้าที่โดยสอดคล้องกับสถานการณ์นั้นๆ
๖. ผัสสะ (contact) = การเชื่อมต่อความรู้กับโลกภายนอก การรับรู้อารมณ์ต่างๆ
๗. เวทนา (feeling) = ความรู้สึกสุขสบาย ถูกใจ หรือทุกข์ ไม่สบาย หรือเฉยๆ ไม่สุข ไม่ทุกข์
๘. ตัณหา (craving) = ความอยาก ทะยาน ร่านรนหาสิ่งอำนวยสุขเวทนา หลีกหนีสิ่งที่ก่อทุกขเวทนา, โดยอาการ ได้แก่ อยากได้ อยากเป็น อยากคงอยู่อย่างนั้นๆ ยั่งยืนตลอดไป อยากให้ดับสูญ ให้พินาศไปเสีย
๙. อุปาทาน (attachment, clinging) = ความยึดติดถือมั่นในเวทนาที่ชอบหรือชัง รวบรั้งเอาสิ่งต่างๆ และภาวะชีวิตที่อำนวยเวทนานั้นเข้ามาผูกพันกับตัว; ความยึดมั่นต่อสิ่งซึ่งทำให้เกิดเวทนาที่ชอบหรือไม่ชอบ จนเกิดท่าทีหรือตีราคาต่อสิ่งต่างๆ ในแนวทางที่เสริมหรือสนองตัณหาของตน
๑๐. ภพ (process of becoming) = กระบวนพฤติกรรมทั้งหมดที่แสดงออก เพื่อสนองตัณหา อุปาทานนั้น (กรรมภพ – the active process); และ ภาวะชีวิตที่ปรากฏเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง (อุปปัตติภพ – the passive process) โดยสอดคล้องกับอุปาทานและกระบวนพฤติกรรมนั้น 345
๑๑. ชาติ (birth) = การเกิดความตระหนักในตัวตนว่าอยู่หรือไม่ได้อยู่ในภาวะชีวิตนั้นๆ หรือไม่ได้มี ไม่ได้เป็นอย่างนั้นๆ; การเข้าครอบครองภาวะชีวิตนั้น หรือเข้าสวมเอากระบวนพฤติกรรมนั้น โดยการยอมรับตระหนักชัดขึ้นมาว่าเป็นภาวะชีวิตของตน เป็นกระบวนพฤติกรรมของตน
๑๒. ชรามรณะ(decay and death) = ความสำนึกในความขาด พลาด หรือ พรากแห่งตัวตนจากภาวะชีวิตอันนั้น ความรู้สึกว่าตัวตนถูกคุกคามด้วยความสูญสิ้นสลาย หรือพลัดพรากจากภาวะชีวิตนั้นๆ หรือจากการได้มี ได้เป็นอย่างนั้นๆ จึงเกิด โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัส อุปายาส พ่วงมาด้วย คือ รู้สึกคับแค้น ขัดข้อง ขุ่นมัว แห้งใจ หดหู่ ซึมเซา ไม่สมหวัง กระวนกระวาย และทุกขเวทนาต่างๆ