ไปยังหน้า : |
เมื่อมองให้ถึงตัวสภาวะ สุขที่ยังเป็นเวทนา หรือสุขที่ยังอาศัย ยังขึ้นต่อการเสวยอารมณ์ ล้วนเป็นทุกข์ทั้งสิ้น เพราะสุขเวทนาก็เช่นเดียวกับเวทนาอื่นๆ (คือทุกข์ และอทุกขมสุข) ล้วนเป็นสังขารธรรม (หมายถึง สังขารในความหมายของสังขตธรรม ที่คลุมขันธ์ ๕ ทั้งหมด ไม่ใช่สังขารที่เป็นข้อที่ ๔ ในขันธ์ ๕) จึงย่อมเป็นทุกข์ทั้งสิ้น (หมายถึงทุกข์ในไตรลักษณ์) ดังพุทธพจน์ตรัสชี้แจงแก่ภิกษุรูปหนึ่ง ดังนี้
ภิกษุ: เมื่อข้าพระองค์หลีกเร้นอยู่ในที่ลับ ได้เกิดความครุ่นคิดในใจอย่างนี้ว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา...แต่พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ (เวทนา) ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์; ข้อที่พระผู้มีพระภาคตรัสว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์ดังนี้ พระองค์ตรัสหมายถึงอะไรหนอ?
พระพุทธเจ้า: ถูกแล้ว ถูกแล้ว ภิกษุ เรากล่าวเวทนาไว้ ๓ อย่าง คือ สุขเวทนา ทุกขเวทนา อทุกขมสุขเวทนา...แต่เราก็ได้กล่าวข้อความนี้ไว้ด้วยว่า การเสวยอารมณ์ไม่ว่าอย่างหนึ่งอย่างใด ล้วนจัดเข้าในทุกข์, ความข้อ (หลัง) นี้...เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล เป็นสิ่งไม่เที่ยง...เรากล่าวหมายถึงภาวะที่สังขารทั้งหลายนั่นแล มีความสิ้น ความสลาย ความจางหาย ความดับ ความแปรปรวนไปได้เป็นธรรมดา”2137
เมื่อใด รู้เข้าใจตามเป็นจริงว่า เวทนาทั้ง ๓ คือ สุขก็ดี ทุกข์ก็ดี อทุกขมสุขก็ดี ล้วนไม่เที่ยง เป็นสิ่งที่ปัจจัยต่างๆ ปรุงแต่งขึ้น เป็นของอาศัยกันๆ เกิดขึ้น มีอันจะต้องสิ้น ต้องสลาย ต้องจางหาย ต้องดับไปเป็นธรรมดา แล้วหมดใคร่หายติดในเวทนาทั้ง ๓ นั้น จนจิตหลุดพ้นเป็นอิสระได้แล้ว 2138 เมื่อนั้น จึงจะประสบสุขเหนือเวทนา หรือสุขที่ไม่เป็นเวทนา ไม่พึ่งพาอาศัยขึ้นต่อการเสวยอารมณ์ ที่เป็นขั้นสูงสุด
เวทนาจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยผัสสะ คือการรับรู้ ที่เกิดจากอายตนะ มีตา เป็นต้น ประจวบกับอารมณ์ มีรูป เป็นต้น แล้วเกิดการเห็น การได้ยิน เป็นต้น พูดง่ายๆ แง่หนึ่งว่า เวทนาต้องอาศัยอารมณ์ ขึ้นต่ออารมณ์ ถ้าไม่มีอารมณ์ เวทนาก็เกิดไม่ได้ เวทนาจึงแปลว่า การเสวยอารมณ์ หรือเสพรสอารมณ์
เมื่อเวทนาอาศัยอารมณ์ สุขที่เป็นเวทนา ก็ต้องอาศัยอารมณ์ ฌานสุขอาศัยเฉพาะธรรมารมณ์อย่างเดียว แต่กามสุขต้องอาศัยอารมณ์ทุกอย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์ ๕ อย่างต้น ที่เรียกว่ากามคุณ ซึ่งเป็นอามิส
โลกิยปุถุชนดำเนินชีวิต โดยมุ่งแสวงหากามสุข จึงเท่ากับฝากความสุขความทุกข์ ฝากชีวิตของตนไว้กับอารมณ์เหล่านั้น คราวใดกามคุณารมณ์พรั่งพร้อมอำนวย ก็สนุกสนานร่าเริง คราวใด กามคุณารมณ์เหล่านั้นผันผวนปรวนแปรไป หรือขาดแคลน ไม่มีอารมณ์จะเสพเสวย ก็ซบเซาเศร้าสร้อยหงอยละเหี่ย
ต่างจากท่านผู้รู้จักความสุขที่ประณีตสูงขึ้นไป เฉพาะอย่างยิ่งสุขที่ไม่อาศัยเวทนา ซึ่งไม่ฝากชีวิตไว้กับอารมณ์เหล่านั้น ถึงแม้กามคุณารมณ์จะเสื่อมสลายปรวนแปรไป ก็ยังคงเป็นสุขอยู่ได้ ดังพุทธพจน์ว่า
“เทพและมนุษย์ทั้งหลาย มีรูปเป็นที่ยินดี รื่นรมย์ด้วยรูป บันเทิงด้วยรูป...บันเทิงด้วยเสียง...บันเทิงด้วยกลิ่น...บันเทิงด้วยรส...บันเทิงด้วยสิ่งสัมผัสกาย...บันเทิงด้วยธรรมารมณ์;