ไปยังหน้า : |
เมื่อมองว่า การเคลื่อนไหวเป็นลักษณะทั่วไปอย่างหนึ่งแห่งชีวิตของคนสัตว์ ดังที่กล่าวแล้วว่าคนสัตว์ก็เคลื่อนไหวไปตามความรู้ ซึ่งอาจจะเป็นความรู้เพียงขั้นตอบสนองอารมณ์ที่รับรู้ (สิ่งเร้า) หรือความรู้ขั้นปัญญาที่กำหนดได้ว่าควรหรือไม่ควรก็ได้
เมื่อถือว่าการเคลื่อนไหวนี้เป็นการกระทำ จะเห็นว่า มีกรณีมากมายที่ตามปกติคนสัตว์จะเคลื่อนไหวหรือกระทำ แต่กลับหยุด คือไม่เคลื่อนไหว หรือชะงักการกระทำเสีย ในกรณีเช่นนี้ จะเห็นได้ว่า การหยุด การเฉยนิ่ง หรือการไม่กระทำ ก็คือการกระทำอย่างหนึ่งนั่นเอง และเป็นการกระทำอย่างแรงเสียด้วย
ดังจะได้เห็นต่อไปว่า ตัณหาเป็นเหตุให้กระทำการที่เป็นเงื่อนไข เพื่อได้สิ่งเสพเสวย หรือปกป้องรักษาความมั่นคงถาวรของอัตตาที่ยึดถือไว้ คำว่า “กระทำ” ในที่นี้ จะต้องรวมถึงการไม่กระทำด้วย
กรณีที่ตัณหาจะทำให้กระทำการไม่กระทำ อาจมีได้ตั้งหลายอย่าง เช่น ไม่กระทำ เพราะถ้ากระทำ ก็จะเป็นเหตุให้ตนพรากจากสุขเวทนาที่กำลังเสพอยู่ หรือเพราะการเคลื่อนไหวไปกระทำการนั้น จะเป็นเหตุให้ตนยากลำบาก ประสบทุกขเวทนา
บางที แม้แต่เมื่อการกระทำนั้นจะเป็นประโยชน์ เป็นผลดีแท้จริงแก่ชีวิต แต่ตัณหากลัวความยาก กลัวความพรากจากสุขที่กำลังเสวยอยู่ ก็ชักจูงให้ไม่กระทำ