| |
แรงจูงใจแห่งตัณหา

ตัณหา แปลว่า ความกระหาย ความทะยาน ความอยาก ความเสน่หา ความรน ความร่าน ความกระสับกระส่าย ความกระวนกระวาย ไม่รู้อิ่ม 2032

หลักสำคัญที่ควรทราบเกี่ยวกับตัณหา คือ ตามหลักปฏิจจสมุปบาท ตัณหาเกิดจากเวทนาเป็นปัจจัย โดยมีอวิชชาเป็นมูลราก กล่าวคือ เมื่อบุคคลรับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่น่าชอบใจ หรือไม่น่าชอบใจก็ตาม เช่น เห็นรูปสวย หรือน่าเกลียด ได้ยินเสียงไพเราะ หรือหนวกหู เป็นต้น แล้วเกิดความรู้สึกสุข หรือทุกข์ หรือเฉยๆ ขึ้น ในเวลานั้น ตัณหาก็จะเกิดขึ้นในลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่ง คือ ถ้ารู้สึกสุข ก็ยินดี ชื่นชอบ คล้อยตามไป ติดใจ ใฝ่รัก อยากได้ ถ้ารู้สึกทุกข์ ก็ยินร้าย ขัดใจ ชัง อยากเลี่ยงหนี หรืออยากให้สูญสิ้นไปเสีย ถ้ารู้สึกเฉยๆ ก็เพลินๆ เรื่อยเฉื่อยไป

อาการอย่างนี้เป็นไปของมันได้เอง โดยไม่ต้องใช้ความคิด ไม่ต้องใช้ความรู้ความเข้าใจอะไรเลย (ตรงข้าม ถ้ามีความรู้ความเข้าใจ หรือใช้ความคิดแทรกเข้ามาในเวลานั้น เช่น รู้ว่า รูปที่น่าเกลียดนั้น เป็นสิ่งมีประโยชน์ หรือรู้ว่าเสียงไพเราะนั้น เป็นสัญญาณอันตราย หรือเกิดสำนึกทางจริยธรรม หรือวัฒนธรรมประเพณี ว่าสิ่งนั้นไม่เหมาะสมกับภาวะหรือฐานะของตน เป็นต้น ตัณหาอาจถูกตัดตอน กระบวนการไม่ไหลต่อเนื่องเรื่อยไปอย่างเดิม แต่เกิดพฤติกรรมรูปอื่นรับช่วงไปแทน) จึงอาจพูดอย่างง่ายๆ ว่า ตัณหาอิงอาศัยเวทนา โดยมีอวิชชาเป็นตัวหนุน หรือตัณหาแอบอิงเวทนา อยู่บนฐานแห่งอวิชชา

ในเมื่อตัณหาใฝ่ หรือผูกพันมุ่งหมายเวทนาอย่างนี้ ตัณหาจึงร่านรนหันไปหาสิ่งที่จะให้เวทนาแก่มันได้ และสิ่งที่ตัณหาต้องการ ก็คือสิ่งใดก็ตามที่จะอำนวยเวทนาอันอร่อยซึ่งตัณหาชอบ สิ่งทั้งหลายที่อำนวยเวทนาได้เมื่อจัดรวมเข้าเป็นประเภทแล้ว ก็มีเพียง ๖ อย่าง เรียกว่าอารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (สิ่งต้องกาย) และธรรมารมณ์ (เรื่องในใจ)

เฉพาะอย่างยิ่ง อารมณ์จำพวกที่เด่นชัดกว่า เป็นรูปธรรม คือ ๕ อย่างแรก ซึ่งเรียกว่า กามคุณ ๕ (ได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ที่น่าใคร่น่าพอใจ) อารมณ์ ๖ โดยเฉพาะกามคุณ ๕ นี้ เป็นสิ่งที่ตัณหาต้องการ และเป็นที่เกิดของตัณหา โดยนัยนี้ จึงขยายความหมายของตัณหาออกไปได้ว่า ตัณหา คือ ความกระหายอยากในสิ่งที่ให้เวทนา หรือความกระหายอยากในอารมณ์ที่ชอบใจ หรือในกามคุณทั้งหลาย 2033 หรือความกระหายอยากได้อารมณ์ที่ชอบใจมาเสพเสวยเวทนาอันอร่อย พูดสั้นๆ ว่า อยากได้ หรืออยากเอา


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |