ไปยังหน้า : |
ก่อนแสดงคำจำกัดความและความหมายตามแบบ จะให้คำแปลและความหมายง่ายๆ ตามรูปศัพท์ เป็นพื้นฐานความเข้าใจไว้ชั้นหนึ่งก่อน ดังนี้
๑. อวิชชา ความไม่รู้แจ้ง คือ ไม่รู้ความจริง หรือไม่รู้ตามเป็นจริง
๒. สังขาร ความคิดปรุงแต่ง เจตจำนงและทุกสิ่งที่จิตได้สะสมไว้
๓. วิญญาณ ความรู้ต่อสิ่งที่ถูกรับรู้ คือ การเห็น-ได้ยิน-ฯลฯ-รู้เรื่องในใจ
๔. นามรูป นามธรรมและรูปธรรม ชีวิตทั้งกายและใจ
๕. สฬายตนะ อายตนะ คือ ช่องทางรับรู้ ๖ ได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ
๖. ผัสสะ การรับรู้ การประจวบกันของอายตนะ+อารมณ์ (สิ่งที่ถูกรับรู้) + วิญญาณ
๗. เวทนา ความเสวยอารมณ์ ความรู้สึกสุข ทุกข์ หรือเฉยๆ
๘. ตัณหา ความทะยานอยาก คือ อยากได้ อยากเป็น อยากไม่เป็น
๙. อุปาทาน ความยึดติดถือมั่น การยึดถือค้างใจ การยึดถือเข้ากับตัว
๑๐. ภพ ภาวะชีวิตที่เป็นอยู่ สภาพชีวิต ผลรวมกรรมทั้งหมดของบุคคล
๑๑. ชาติ ความเกิด ความปรากฏแห่งขันธ์ทั้งหลายที่ยึดถือเอาเป็นตัวตน
๑๒. ชรามรณะ ความแก่-ความตาย คือ ความเสื่อมอินทรีย์-ความสลายแห่งขันธ์
ต่อไปนี้ คือ คำจำกัดความองค์ประกอบ หรือหัวข้อทั้ง ๑๒ ตามแบบ
๑. อวิชชา = ความไม่รู้ทุกข์ – สมุทัย – นิโรธ – มรรค (อริยสัจ ๔) และ (ตามแบบอภิธรรม) ความไม่รู้หนก่อน – หนหน้า – ทั้งหนก่อนหนหน้า321 – ปฏิจจสมุปบาท
๒. สังขาร = กายสังขาร วจีสังขาร จิตตสังขาร322 และ (ตามนัยอภิธรรม) ปุญญาภิสังขาร อปุญญาภิสังขาร อาเนญชาภิสังขาร 323
๓. วิญญาณ = จักขุ ~ โสต~ ฆาน~ ชิวหา~ กาย~ มโนวิญญาณ (วิญญาณ ๖) 324
๔. นามรูป = นาม (เวทนา สัญญา เจตนา ผัสสะ มนสิการ) หรือตามแบบอภิธรรม (เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์) + รูป (มหาภูต ๔ และรูปที่อาศัยมหาภูต ๔)325
๕. สฬายตนะ = จักขุ – ตา โสตะ – หู ฆานะ – จมูก ชิวหา – ลิ้น กาย – กาย มโน - ใจ