ไปยังหน้า : |
ผู้เริ่มศึกษาพึงทราบว่า คำว่า ฌาน ๔ ตามปกติหมายถึง รูปฌาน ๔ ดังนั้น จะพูดว่าฌาน ๔ หรือ รูปฌาน ๔ ก็มี ความหมายเท่ากัน; อนึ่ง ไม่พึงสับสนฌาน ๔ กับฌาน ๕ เพราะฌาน ๕ ก็คือฌาน ๔ นั่นเอง เป็นแต่ขยายละเอียดออกไปตามแนวอภิธรรม และฌานที่ ๕ ตามแนวอภิธรรมนั้น ก็ตรงกับฌานที่ ๔ ในที่นี้นั่นเอง (ฌานที่แยกเป็น ๔ เรียกว่าฌานจตุกกนัย เป็นแบบหลักที่พบทั่วไปในพระสูตร ส่วนฌานที่แยกขยายออกเป็น ๕ ตามแนวอภิธรรม เรียกว่า ฌานปัญจกนัย)
ฌาน ๔ นี้ควรจะกล่าวถึงในบทว่าด้วยมรรค ตอนสัมมาสมาธิ ในภาคปฏิบัติข้างหน้า แต่เมื่อเอ่ยถึงในที่นี้แล้ว ก็ควรทำความเข้าใจเล็กน้อย
“ฌาน” แปลว่า เพ่ง หมายถึง ภาวะจิตที่เพ่งอารมณ์จนแน่วแน่ ได้แก่ภาวะจิตที่มีสมาธินั่นเอง แต่สมาธินั้นมีความประณีตสนิทชัดเจนผ่องใส และมีกำลังมากน้อยต่างๆ กัน แยกได้เป็นหลายระดับ ความต่างของระดับนั้น กำหนดด้วยคุณสมบัติของจิตที่เป็นองค์ประกอบร่วมของสมาธิในขณะนั้นๆ องค์ประกอบเหล่านี้ได้แก่ วิตก (การจรดจิตลงในอารมณ์) วิจาร (การที่จิตเคล้าอยู่กับอารมณ์) ปีติ (ความอิ่มใจ) สุข อุเบกขา (ความมีใจเป็นกลาง) และเอกัคคตา (ภาวะที่จิตมีอารมณ์แน่วแน่เป็นหนึ่งเดียว คือตัวสมาธินั่นเอง)
ฌานที่มีรูปธรรมเป็นอารมณ์ (รูปฌาน) ท่านนิยมแบ่งออกเป็น ๔ ระดับ มีองค์ประกอบที่ใช้กำหนดระดับ ดังนี้
๑. ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) มีองค์ ๕ คือ วิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
๒. ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) มีองค์ ๓ คือ ปีติ สุข เอกัคคตา
๓. ตติยฌาน (ฌานที่ ๓) มีองค์ ๒ คือ สุข เอกัคคตา
๔. จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา เอกัคคตา
ฌานที่สูงขึ้นไปกว่านี้ คือ อรูปฌาน ก็มีองค์ ๒ คือ อุเบกขา และเอกัคคตา เหมือนจตุตถฌาน แต่กำหนดอรูปธรรมเป็นอารมณ์ และมีความประณีตยิ่งขึ้นไปโดยลำดับ ตามอารมณ์ที่กำหนด อรูปฌาน ๔ แต่ละข้อ มีคำบรรยายอยู่ข้างบนแล้ว (ตรงกับวิโมกข์ข้อ ๔ ถึง ๗) จึงไม่ต้องพูดถึงอีก.