ไปยังหน้า : |
ความสับสนปะปนกันระหว่างฉันทะกับตัณหา เกิดจากการที่ธรรมสองอย่างนี้ เกิดแทรกหรือซ้อนหรือสลับกันได้ และเป็นปัจจัยแก่กันและกันได้
เป็นธรรมดาของมนุษย์ปุถุชนที่ยังมีตัณหาเป็นเจ้าเรือน ไม่ว่าฉันทะจะเกิดขึ้นหรือไม่ ตัณหาก็ย่อมมียืนพื้นคอยรอโอกาสอยู่ ถ้าฉันทะไม่เกิด ตัณหาก็ทำหน้าที่ของมันเรื่อยไป ถ้าฉันทะเกิดขึ้นมา ตัณหาก็คอยหาช่องที่จะแทรกซ้อนแอบแฝงหรือเข้าแทนที่
อนึ่ง มนุษย์เป็นสัตว์ที่เจริญ สามารถมีปัญญาและคุณธรรมได้มาก เมื่อมนุษย์พัฒนาสูงขึ้นไปในด้านจิตและปัญญา ตัณหาก็พลอยมีอาการละเอียดอ่อนตามไปด้วย และแสดงตัวออกในลักษณะที่ประณีตซับซ้อนยิ่งขึ้น ดังนั้น พอฉันทะเกิดขึ้น คือมองเห็นว่าอะไรเป็นภาวะดีงามมีคุณค่าแท้จริง พาใจโน้มน้อมเข้าไปหาสิ่งนั้นแล้ว ตัณหาก็อาจเข้าแทรกซ้อนได้ทันที โดยการวางท่าทีของการเข้าครอบครอง การยึดถือเป็นของตน การเอาตัวตนเข้าผูกพัน การเป็นเจ้าของหรือออกรับแทน การแบ่งแยกหรือกันออกว่าเป็นส่วนของเรา ส่วนของคนอื่น