| |
พระรัตนตรัย ในฐานะเครื่องนำเข้าสู่มรรคและเป็นที่รวมของการปฏิบัติตามมรรค  |   |  

หลักยึดเหนี่ยวเบื้องต้นของชาวพุทธ คือพระรัตนตรัย อันได้แก่ พระพุทธเจ้า พระธรรม และพระสงฆ์ ตามปกติจึงถือเอาสรณคมน์ คือการถึงพระรัตนตรัยเป็นสรณะ ว่าเป็นเครื่องหมายของการเป็นพุทธศาสนิกชน และความเป็นอุบาสกอุบาสิกา แม้แต่พระโสดาบัน ก็มีคุณสมบัติอย่างหนึ่งว่า เป็นผู้มีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหว ในพระรัตนตรัย จึงเป็นข้อที่น่าศึกษาว่า ความเคารพนับถือพระรัตนตรัย เป็นข้อปฏิบัติ ณ ส่วนใด อยู่ที่จุดไหน ในการดำเนินตามมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา

ความเคารพนับถือพระรัตนตรัย ที่แสดงออกด้วยสรณคมน์ สำหรับคนทั่วไป ก็ดี ความมีศรัทธาตั้งมั่นไม่หวั่นไหวในพระรัตนตรัย ของพระโสดาบัน ก็ดี เป็นเครื่องแสดงให้เห็นชัดอยู่แล้วว่า คุณธรรมที่เด่นสำหรับพุทธศาสนิกชนในระดับเบื้องต้นนี้ทั้งหมด ได้แก่ ศรัทธา

เมื่อพิจารณาในระบบแห่งมัชฌิมาปฏิปทา เท่าที่อธิบายมาแล้ว จะเห็นได้ว่า ศรัทธาอยู่ ณ ส่วนบุพภาคแห่งมัชฌิมาปฏิปทา โดยเฉพาะเป็นตัวเชื่อมบุคคล กับกัลยาณมิตร หรือปรโตโฆสะที่ดี และมุ่งที่จะให้โยงไปสู่โยนิโสมนสิการ โดยมีสาระสำคัญว่า ให้เป็นศรัทธาที่นำไปสู่ปัญญา คือ ช่วยให้เกิดสัมมาทิฏฐิ ซึ่งเป็นองค์มรรคข้อแรก ที่เข้าสู่ตัวมรรค หรือมัชฌิมาปฏิปทา เพื่อเดินหน้าต่อไป

หลักนี้ แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ ระหว่างพระรัตนตรัย กับการดำเนินตามมัชฌิมาปฏิปทา ในฐานะที่ศรัทธาในพระรัตนตรัย เป็นเครื่องนำเข้าสู่มรรค นับว่าชัดเจนพอสมควรอยู่แล้ว

แต่เพื่อให้หนักแน่นขึ้น ควรพิจารณาตามหลัก องค์ของความเป็นโสดาบัน (โสตาปัตติยังคะ) หรือ หลักการพัฒนาปัญญา (ปัญญาวุฒิธรรม) ๔ ประการด้วย คือ

๑. สัปปุริสสังเสวะ การเสวนาสัตบุรุษ การคบหาคนดีมีปัญญา

๒. สัทธรรมสวนะ การสดับสัทธรรม การฟังธรรมที่แท้ เรียนรู้เรื่องที่ถูกที่ดี

๓. โยนิโสมนสิการ การทำในใจโดยแยบคาย การใช้ความคิดถูกวิธี การรู้จักคิด

๔. ธรรมานุธรรมปฏิบัติ การปฏิบัติธรรมย่อยคล้อยแก่ธรรมใหญ่ การปฏิบัติธรรมถูกหลัก

ความจริง ธรรมหมวดนี้ มีชื่อเรียกอีกหลายอย่าง เฉพาะอย่างยิ่ง ชื่อว่าธรรมที่เป็นไปเพื่อประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล จนถึงอรหัตตผล ดังพุทธพจน์ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ธรรม ๔ อย่างเหล่านี้ เจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นไป เพื่อประจักษ์แจ้งโสดาปัตติผล...เพื่อประจักษ์แจ้งสกทาคามิผล...เพื่อประจักษ์แจ้งอนาคามิผล...เพื่อประจักษ์แจ้งอรหัตตผล; ๔ อย่าง อะไรบ้าง? ได้แก่ สัปปุริสสังเสวะ สัทธรรมสวนะ โยนิโสมนสิการ ธรรมานุธรรมปฏิบัติ...”1410


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |