ไปยังหน้า : |
มีพุทธพจน์แสดงเหตุที่คนให้ทานอยู่ ๒–๓ หมวด เห็นว่าน่าสนใจ จึงคัดมาดูกันดังนี้
หมวดหนึ่งว่า ๑. บางคนหวังผลจึงให้ มีจิตผูกพันกันจึงให้ หวังจะสะสมจึงให้ คิดว่าเราจากโลกนี้ไปแล้ว จะได้กินได้ใช้จึงให้ ๒. บางคนให้โดยคิดว่า การให้เป็นการกระทำที่ดี ๓. บางคนให้ด้วยคิดว่า พ่อแม่ ปู่ย่าตายาย เคยให้ เคยทำมา เราไม่ควรให้เสียประเพณีเก่าของวงศ์ตระกูล ๔. บางคนให้ด้วยคิดว่า เราหุงหากินเองได้ คนเหล่านี้หุงหาไม่ได้ เมื่อเรายังหุงหาได้ ไม่ควรจะไม่ให้แก่คนที่หุงหาไม่ได้ ๕. บางคนให้ด้วยคิดว่า การให้ การแจกทานของเรานี้ จะเป็นเหมือนดังมหายัญ ของฤาษีปางก่อนทั้งหลาย (มุ่งเกียรติ) ๖. บางคนให้ด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ จิตจะผ่องใส เกิดโสมนัสแช่มชื่นใจ ๗. บางคนให้โดยฐานเป็นอลังการ เป็นบริขารของจิต (เป็นเครื่องประกอบส่งเสริมคุณภาพของจิต แต่งจิตให้ดีงาม คือเป็นการฝึกฝนอบรมจิต เช่น ทำให้จิตใจทั้งของผู้ให้และผู้รับอ่อนโยนลง หรือเป็นการฝึกตนให้เป็นคนเสียสละมากขึ้น หรือเป็นการปลูกฝังเจริญเมตตากรุณาธรรม เช่นตั้งใจว่า ขอให้คนตกทุกข์ จงกลายเป็นผู้มีสุข เป็นต้น พูดตามภาษาวิชาการว่า เป็นเครื่องประกอบ หรือเป็นส่วนช่วยแก่สมถวิปัสสนา), องฺ.สตฺตก.23/49/61-64; ทั้งหมดนี้ และต่อจากนี้ เรียงลำดับจากเหตุจูงใจอย่างต่ำขึ้นไปหาสูง ตามลำดับ
อีกหมวดหนึ่งว่า ๑. ให้เพราะประจวบเหตุ (มีผู้รับมาถึงเข้า) ๒. ให้เพราะกลัว ๓. ให้เพราะนึกว่า เขาเคยให้แก่เรา ๔. ให้เพราะคิดว่า เขาจักให้แก่เรา (หวังตอบแทน) ๕. ให้เพราะคิดว่า การให้เป็นสิ่งที่ดี ๖.=๔ ในหมวดแรก ๗. ให้เพราะคิดว่า เมื่อเราให้ กิตติศัพท์อันงามจะเฟื่องฟุ้ง ๘. ให้เพื่อเป็นอลังการ เป็นบริขารของจิต, ที.ปา.11/345/271; องฺ.อฏฺก.23/121/240
อีกหมวดหนึ่งว่า ๑. ให้เพราะชอบกัน ๒. ให้เพราะโกรธ ๓. ให้เพราะหลง ๔. ให้เพราะกลัว ๕.=๓ ในหมวดแรก ๖. ให้เพราะคิดว่า เราให้ทานนี้แล้ว เมื่อตาย จะได้ไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์ ๗.=๖ ในหมวดแรก ๘.=๗ ในหมวดแรก, องฺ.อฏฺก.23/123/240
ท้ายพุทธพจน์หมวดแรก มีข้อความกล่าวถึงภพที่ผู้ให้ด้วยเหตุจูงใจนั้นๆ จะไปเกิดด้วย แต่ข้อนั้น เป็นการกล่าวถึงผลที่จะเกิดมีมาตามเหตุโดยธรรมดาของมัน ไม่เกี่ยวกับความปรารถนาของผู้ให้ทาน