| |
แง่ที่ ๒) ตัณหา เป็นแรงจูงใจให้กระทำในระบบเงื่อนไข  |   |  

แง่ที่สองนี้ ก็มีสาระอย่างเดียวกับแง่ที่หนึ่งนั่นเอง แต่มองต่อไปอีกขั้นหนึ่ง คือ เมื่อมองดูให้ลึกซึ้งถึงแก่นแท้ ตัณหาหาได้เป็นแรงจูงใจให้กระทำไม่

ดังที่กล่าวแล้วว่า ตัณหาต้องการเสพ อยากได้อยากเอาสิ่งที่จะให้สุขเวทนาแก่ตน ต่างจากฉันทะที่ต้องการภาวะที่ดีงามสมบูรณ์ของสิ่งนั้นๆ หรือทุกสิ่งที่เข้าไปเกี่ยวข้อง อันนี้มีผลต่อการกระทำ และการไม่กระทำอย่างซับซ้อน

ขอยกตัวอย่าง คนมีฉันทะมองเห็นพื้นบ้าน ก็อยากให้สะอาด (ต้องการภาวะดีงามสมบูรณ์ของพื้นบ้าน) ถ้าไม่สะอาด ก็อยากทำให้สะอาด จึงไปหยิบไม้กวาดมากวาด เขามีความสุขความพอใจ ทั้งในการกวาด (ที่เป็นเหตุของผลที่ต้องการ) และมีความสุขเมื่อเห็นพื้นบ้านสะอาด (ซึ่งเป็นผลโดยตรงของการกระทำการกวาด)

กล่าวฝ่ายเด็กชาย ฮ. ไม่มีฉันทะ ไม่รักความสะอาด อยากกินขนมเสพให้อร่อยอย่างเดียว คุณแม่แนะนำให้กวาด ก็ไม่ทำ คุณแม่จึงบอกว่า “ลูกกวาดบ้านหน่อยนะ เดี๋ยวแม่จะซื้อขนมอร่อยมาให้” พอได้ยินอย่างนี้ เด็กชาย ฮ. ก็ฉวยไม้กวาดมาทำการกวาดพื้นบ้าน

ที่จริง เด็กชาย ฮ. ไม่ได้ต้องการความสะอาด การที่เขากวาดพื้นบ้านนั้น เขาไม่ได้ต้องการความสะอาดที่เป็นผลของการกระทำคือการกวาด แต่เขากระทำการกวาดนั้น เพราะการทำการกวาดเป็นเงื่อนไขที่จะให้เขาได้ขนมมาเสพ

มองเห็นได้ชัดเลยว่า เด็กชาย ฮ. มิได้มีความสุขในการกวาด (ทุกข์ด้วยซ้ำ) และก็ไม่ได้ตั้งใจกวาดให้ดี (คุณแม่ต้องให้ใครคอยคุมให้ดี) เพราะการกวาดนั้นเป็นเหตุของความสะอาด ซึ่งมิใช่เป็นผลที่เขาต้องการ


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |