| |
หวังพึ่งเทวดา ได้ผลนิดหน่อย แต่เกิดโทษมากมาย  |   |  

การหวังพึ่งเทวดา ย่อมมีผลในขอบเขตจำกัด หรือมีจุดติดตันอย่างเดียวกับที่กล่าวแล้วในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์ คือ ในทางปัญญา เทวดาทั่วๆ ไปก็ยังมีอวิชชา ไม่รู้สัจธรรม เช่นเดียวกับมนุษย์ ดังเรื่องพระภิกษุรูปที่เหาะไปถามปัญหากะเทวดา จนแม้แต่พระพรหมก็ตอบไม่ได้ และเรื่องพระพุทธเจ้าทรมานพกพรหม ที่กล่าวมาแล้วข้างต้น

ส่วนในด้านจิตใจ เทวดาก็เหมือนกับมนุษย์ คือ ส่วนใหญ่เป็นปุถุชน ยังมีกิเลส มีเชื้อความทุกข์มากบ้างน้อยบ้าง ยังหมุนเวียนขึ้นๆ ลงๆ อยู่ในสังสารวัฏ ดังเช่นพระพรหม แม้จะมีคุณธรรมสูง แต่ก็ยังประมาทเมาว่าตนอยู่เที่ยงแท้นิรันดร 1963 พระอินทร์เมาประมาทในทิพยสมบัติ 1964 คนอื่นหวังพึ่งพระอินทร์ แต่พระอินทร์เองยังไม่หมดราคะ โทสะ โมหะ ยังมีความหวาดกลัวสะดุ้งหวั่นไหว1965

การอ้อนวอนหวังพึ่งเทวดา นอกจากขัดกับความเพียรพยายามโดยหวังผลสำเร็จจากการกระทำ ขัดหลักพึ่งตนเองและความหลุดพ้นเป็นอิสระ ดังได้กล่าวในเรื่องอิทธิปาฏิหาริย์แล้ว ยังมีผลเสียที่ควรสังเกตอีกหลายอย่าง เช่น

- ในเมื่อเทวดาเป็นปุถุชน การที่มนุษย์ไปเฝ้าประจบยกยอ บนบานต่างๆ ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้นที่จะประสบผลเสีย เทวดาทั้งหลายก็จะพลอยเสียไปด้วย เพราะจะเกิดความหลงใหลมัวเมาในคำยกย่องสรรเสริญ ติดในลาภสักการะ คือสิ่งเซ่นสรวงสังเวย และปรารถนาจะได้ให้มากยิ่งขึ้นๆ โดยนัยนี้ ทั้งเทวดาและมนุษย์ต่างก็มัวมาฝักใฝ่วุ่นวายอยู่กับการบนบาน และการให้ผลตามบนบาน ละทิ้งกิจหน้าที่ของตน หรือไม่ก็ปล่อยปละละเลยให้บกพร่องย่อหย่อน เป็นผู้ตกอยู่ในความประมาท แล้วทั้งมนุษย์และเทวดา ก็พากันเสื่อมลงไปด้วยกัน

- เทวดาบางพวก เมื่อมัวเมาติดในลาภสักการะความยกย่องนับถือแล้ว ก็จะหาทางผูกมัดหมู่ชนไว้กับตน โดยหาทางทำให้คนต้องพึ่งเขาอยู่เรื่อยไป เพื่อผลนี้ เทวดาอาจใช้วิธีการต่างๆ เช่น ล่อด้วยความสำเร็จสมปรารถนาเล็กๆ น้อยๆ เพื่อให้คนหวังผลมากยิ่งขึ้น และบนบานเซ่นสรวงมากยิ่งขึ้น หรือแม้แต่แกล้งทำเหตุให้คนต้องมาติดต่อขอผล ถลำตนเข้าสู่วงการ

- เมื่อเทวดาประเภทหวังลาภ มาวุ่นวายกันอยู่มาก เทวดาดีที่จะช่วยเหลือคนดีโดยไม่หวังผลประโยชน์ ก็จะพากันเบื่อหน่าย หลบลี้ปลีกตัวออกไป คนที่ทำดี ก็ไม่มีใครจะคอยช่วยเหลือให้กำลัง ฝ่ายเทวดาใฝ่ลาภ ก็จะช่วยต่อเมื่อได้รับสิ่งบน หรืออย่างน้อยคำขอร้องอ้อนวอน มนุษย์ก็เลยรู้สึกกันมากขึ้นเหมือนว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วจึงจะได้ดี ก่อให้เกิดความสับสนระส่ำระสายในสังคมมนุษย์มากยิ่งขึ้น

- เมื่อเทวดาดีงามปลีกตัวไป ไม่เกี่ยวข้อง (ตามปกติธรรมเนียมของเทวดา ก็ไม่ต้องการมาเกี่ยวข้องวุ่นวายหรือแทรกแซงในกิจการของมนุษย์อยู่แล้ว) 1966 ก็ยิ่งเป็นโอกาสสำหรับเทวดาร้ายใฝ่ลาภ จะแสวงหาผลประโยชน์ได้มากยิ่งขึ้น เช่น เมื่อมนุษย์อ้อนวอนเรียกร้องเจาะจงต่อเทพบางท่านที่เขานับถือ เทพใฝ่ลาภพวกนี้ก็จะลงมาสวมรอยรับสมอ้างหลอกมนุษย์ โดยมนุษย์ไม่อาจทราบ เพราะเป็นเรื่องเหนือวิสัยของตน แล้วเทวดาสวมรอยก็ทำเรื่องให้พวกมนุษย์หมกมุ่นมัวเมายิ่งขึ้น


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |