| |
ความนำ  |   |  

หลักธรรมต่างๆ ไม่ว่าจะมีชื่อใดๆ ล้วนสัมพันธ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งสิ้น เพราะแสดงถึงหรือสืบเนื่องมาจากสัจธรรมเดียวกัน และเป็นไปเพื่อจุดหมายเดียวกัน แต่นำมาแสดงในชื่อต่างๆ กัน โดยชี้ความจริงเพียงส่วนใดส่วนหนึ่งคนละส่วนละตอนกันบ้าง เป็นความจริงอันเดียวกัน แต่แสดงคนละรูปละแนว เพื่อวัตถุประสงค์คนละอย่างบ้าง ด้วยเหตุนี้ หลักธรรมบางข้อจึงเป็นเพียงส่วนย่อยของหลักใหญ่ บางข้อเป็นหลักใหญ่ด้วยกัน ครอบคลุมความหมายของกันและกัน แต่มีแนวหรือรูปแบบการแสดงและความมุ่งหมายจำเพาะในการแสดงต่างกัน

ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมใหญ่ที่แสดงความเป็นไปของชีวิตไว้ทั้งหมด มีขอบเขตกว้างขวางครอบคลุมหลักธรรมปลีกย่อยในระดับต่างๆ อย่างทั่วถึง เรียกได้ว่าเป็นกระบวนการแห่งชีวิต หรือกระบวนธรรมเบ็ดเสร็จ ถ้าเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาทแล้ว ก็ชื่อว่าเข้าใจชีวิต หรือเข้าใจพระพุทธศาสนาทั้งหมด ดังพุทธพจน์ที่ว่า “ผู้ใดเห็นปฏิจจสมุปบาท ผู้นั้นเห็นธรรม”391

อย่างไรก็ตาม เป็นที่ยอมรับกันทั่วไปว่า ปฏิจจสมุปบาทเป็นหลักธรรมที่ลึกซึ้ง เข้าใจยากอย่างยิ่ง แม้การอธิบายก็ทำได้ยาก ดังนั้น หนังสือหรือคัมภีร์ที่อธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทอย่างจำเพาะโดยตรง จึงมีน้อยอย่างยิ่งจนหาแทบไม่ได้เลย แต่กระนั้นก็ตาม ก็ได้มีหนังสือและคัมภีร์จำนวนมาก อธิบายหลักธรรมบางหมวด บางเรื่อง ที่เป็นส่วนย่อยของหลักปฏิจจสมุปบาทนั้น

หลักธรรมส่วนย่อยของปฏิจจสมุปบาท ที่นิยมอธิบายกันมากที่สุด คงจะได้แก่ หลักกรรม การนำหลักกรรมมาอธิบาย อาจมองได้ทั้งในแง่ที่ว่า กรรมเป็นเรื่องน่าสนใจในตัวของมันเอง และในแง่ที่ว่า ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนั้น เป็นบันไดสำคัญที่จะก้าวเข้าสู่ความเข้าใจหลักปฏิจจสมุปบาท

ว่าที่จริง การอธิบายหลักกรรมตามเนื้อหาอย่างตลอดสาย ก็คือ วิธีการที่ง่ายขึ้นอย่างหนึ่งในการอธิบายหลักปฏิจจสมุปบาทนั่นเอง

กรรมเป็นเพียงส่วนหนึ่งในกระบวนการแห่งปฏิจจสมุปบาท ซึ่งเห็นได้ชัดเมื่อแยกส่วนในกระบวนการนั้นออกเป็น ๓ วัฏฏะ (วน, วังวน) คือ กิเลส กรรม และวิบาก หลักปฏิจจสมุปบาทแสดงถึงกระบวนการทำกรรมและการให้ผลของกรรมทั้งหมด ตั้งต้นแต่กิเลสที่เป็นเหตุให้ทำกรรม จนถึงวิบากอันเป็นผลที่จะได้รับ เมื่อเข้าใจปฏิจจสมุปบาทดีแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจหลักกรรมชัดเจนไปด้วย ดังนั้น ว่าโดยตัวกฎหรือสภาวะ จึงไม่มีความจำเป็นอะไรที่จะต้องชี้แจงเรื่องกรรมไว้ต่างหาก ณ ที่นี้อีก


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง