| |
๒. ภาวิตศีล: มีศีลที่ได้พัฒนาแล้ว  |   |  

ในด้านความประพฤติทั่วไป ที่เรียกว่า “ศีล” มีคำกล่าวแสดงลักษณะของผู้บรรลุนิพพานแล้ว ไม่สู้บ่อยครั้งนัก ทั้งนี้ เพราะตามหลัก ศีลเป็นสิกขา หรือการศึกษาขั้นต้น พระอริยบุคคลย่อมเป็นผู้มีศีลสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ชั้นโสดาบัน612 และเจโตวิมุตติ ปัญญาวิมุตติ ที่ผู้เข้าถึงนิพพานบรรลุ ก็เป็นภาวะที่ทำให้ความทุศีล หรือความประพฤติเสียหาย ไม่มีเหลือต่อไป613

โดยนัยดังกล่าวมา ข้อที่ควรพิจารณา ณ ที่นี้ จึงเหลือจำกัดเพียงข้อที่ว่า พระอรหันต์ดำเนินชีวิตอย่างไร ทำกิจกรรมหรือประกอบกิจการงานอะไร ในรูปลักษณะอย่างไร

ประการแรก พระอรหันต์เป็นผู้ดับกรรม614 หรือสิ้นกรรม615 การกระทำของท่านไม่เป็นกรรมอีกต่อไป ในคัมภีร์ฝ่ายอภิธรรม มีคำเรียกการกระทำของท่านว่าเป็น “กิริยา”616

ที่ว่า “ดับกรรม” นั้น หมายถึงไม่กระทำการต่างๆ โดยมีอวิชชา ตัณหา อุปาทาน ครอบงำ หรือชักจูงใจ แต่ทำด้วยจิตใจที่เป็นอิสระ มีปัญญารู้แจ้งชัดตามเหตุผล เลิกทำการอย่างปุถุชน เปลี่ยนเป็นทำอย่างอริยชน คือ ไม่ทำการด้วยความยึดมั่นในความดีความชั่วที่เกี่ยวกับตัวฉันของฉัน ผลประโยชน์ของฉัน ที่จะให้ฉันได้เป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีความปรารถนาเพื่อตัวตนเคลือบแฝงอยู่ ไม่ว่าในรูปที่หยาบหรือละเอียด แม้แต่ความภูมิพองอยู่ภายในว่านั่นเป็นความดีของฉัน หรือว่าฉันได้ทำความดี เป็นต้น ทำไปตามวัตถุประสงค์ของกิจนั้นๆ ตามเหตุผลของเรื่องนั้นๆ ตามที่มันควรจะเป็นของมันล้วนๆ จึงเป็นการกระทำขั้นที่ลอยพ้นเหนือกรรมดีขึ้นไปอีก ส่วนกรรมชั่วเป็นอันไม่ต้องพูดถึง เพราะหมดโลภะ โทสะ โมหะ ที่จะเป็นเหตุปัจจัยให้ทำความชั่วเสียแล้ว617

อย่างไรก็ดี บางคราวมีผู้ตั้งข้อสงสัยว่า ตามปกติ คนเราจะทำอะไรได้ จะต้องมีแรงจูงใจในการกระทำ และแกนสำคัญของแรงจูงใจทั้งหลายก็คือ ความปรารถนา ความต้องการ ซึ่งควรจะรวมอยู่ในคำว่า “ตัณหา” เมื่อผู้บรรลุนิพพานละตัณหาเสียแล้ว ก็หมดแรงจูงใจ จะทำการต่างๆ ได้อย่างไร คงจะกลายเป็นคนอยู่นิ่งเฉย ไม่ทำอะไรเลย แม้จะไม่ทำความชั่วก็จริง แต่ก็ไม่ทำความดีอะไรด้วย ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

ในที่นี้ คำตอบขั้นต้นอย่างง่ายๆ มีว่า มิใช่แต่ความอยากความปรารถนาเท่านั้นที่เป็นแรงจูงใจ แม้ความคำนึงเหตุผลก็เป็นแรงจูงใจได้เช่นกัน ดังจะเห็นได้ในปุถุชน เมื่อจะทำการบางอย่าง บางคราวมีการต่อสู้กันภายในจิตใจระหว่างพลังสองฝ่าย คือ ระหว่างความปรารถนาผลประโยชน์ส่วนตัว กับความรู้เหตุรู้ผลรู้ดีรู้ชั่ว บางคราวเขาก็ทำตามความอยากได้ บางคราวเขาก็ทำตามเหตุผล

พิจารณาลึกลงไปอีกชั้นหนึ่ง ชีวิตเป็นอยู่ได้ด้วยอาศัยพลังที่ทำให้มันเป็นชีวิต คือ มีความเคลื่อนไหวขยับขยายตัว ถ้าไม่มีองค์ประกอบอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ชีวิตจะเคลื่อนไหวไปตามทางที่ความรู้บอกให้ แต่เพราะขาดความรู้ หรือความรู้ไม่เพียงพอ ตัณหาจะได้โอกาสเข้ามาบิดเบือนหรือบงการความเคลื่อนไหวของชีวิตไม่เฉพาะบงการให้ทำเท่านั้น บางครั้งเมื่อความรู้บอกให้แล้วว่า ควรกระทำ แต่ตัณหาในรูปของความเกียจคร้าน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |