| |
สติโดยคุณค่าทางสังคม  |   |  

พุทธพจน์แสดงคุณค่าของสติในเสทกสูตรต่อไปนี้ เป็นตัวอย่างที่ดีแห่งหนึ่ง ซึ่งเชื่อมโยงให้เห็นความหมายและคุณค่าในทางปฏิบัติ ที่ใกล้ชิดกัน ของอัปปมาท กับสติ ช่วยให้เข้าใจความหมายของธรรมทั้งสองข้อนั้นชัดเจนยิ่งขึ้น และในเวลาเดียวกัน จะแสดงให้เห็นท่าทีของพุทธธรรมต่อชีวิตในทางสังคม ยืนยันว่า พุทธธรรมมองเห็นชีวิตด้านในของบุคคล โดยสัมพันธ์กับคุณค่าด้านนอก คือทางสังคมด้วย และถือว่า คุณทั้งสองด้านนี้เชื่อมโยงเนื่องถึงกัน ไม่แยกจากกัน และสอดคล้อง เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

“ภิกษุทั้งหลาย เรื่องเคยมีมาแล้ว นักกายกรรม ยกลำไม้ไผ่ขึ้นตั้งแล้ว เรียกศิษย์มาบอกว่า มานี่แน่ะเธอ เธอไต่ไม้ไผ่ขึ้นไปแล้ว จง (เลี้ยงตัว) อยู่เหนือต้นคอของเรา”

“ศิษย์รับคำแล้ว ก็ไต่ลำไม้ไผ่ขึ้นไป ยืน (เลี้ยงตัว) อยู่บนต้นคอของอาจารย์

“คราวนั้น นักกายกรรม ได้พูดกับศิษย์ว่า ‘นี่แน่ะเธอ เธอจงรักษาฉันนะ ฉันก็จะรักษาเธอ เราทั้งสองระวังรักษากันและกันไว้อย่างนี้ จักแสดงศิลปะได้ด้วย จักได้เงินด้วย และจักลงจากลำไม้ไผ่ได้โดยสวัสดีด้วย’

“ครั้นอาจารย์กล่าวดังนี้แล้ว ศิษย์จึงกล่าวบ้างว่า ‘ท่านอาจารย์ขอรับ จะทำอย่างนั้นไม่ได้ ท่านอาจารย์ (นั่นแหละ) จงรักษาตัวเองไว้ ผมก็จักรักษาตัวผมเอง เราทั้งสองต่างระวังรักษาตัวของเราไว้อย่างนี้ จักแสดงศิลปะได้ด้วย จักได้เงินด้วย และจักลงจากลำไม้ไผ่ได้โดยสวัสดีด้วย’

พระผู้มีพระภาคตรัสว่า: “นั้นเป็นวิธีปฏิบัติที่ถูกต้องในเรื่องนั้น ดุจดังที่ศิษย์พูดกับอาจารย์ (นั่นเอง) เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาตัวเอง’ ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน (มีสติไว้) เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาผู้อื่น’ ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน (เหมือนกัน)

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน

“เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น นั้นอย่างไร? ด้วยการหมั่นปฏิบัติ ด้วยการเจริญอบรม ด้วยการทำให้มาก อย่างนี้แล เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาผู้อื่น (ด้วย)”

“เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน นั้นอย่างไร? ด้วยขันติ ด้วยอวิหิงสา ด้วยความมีเมตตาจิต ด้วยความเอ็นดูกรุณา อย่างนี้แล เมื่อรักษาผู้อื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน (ด้วย)”

“ภิกษุทั้งหลาย เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาตน’ ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อคิดว่า ‘เราจะรักษาผู้อื่น’ ก็พึงต้องใช้สติปัฏฐาน เมื่อรักษาตน ก็ชื่อว่ารักษาคนอื่น เมื่อรักษาคนอื่น ก็ชื่อว่ารักษาตน” 1543


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |