| |
มรรค ในฐานะอุปกรณ์สำหรับใช้ มิใช่สำหรับยึดถือหรือแบกโก้ไว้  |   |  

“ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนบุรุษผู้เดินทางไกล พบห้วงน้ำใหญ่ ฝั่งข้างนี้ น่าหวาดระแวง น่ากลัวภัย แต่ฝั่งข้างโน้น ปลอดโปร่ง ไม่มีภัย ก็แล เรือ หรือสะพาน สำหรับข้ามไปฝั่งโน้น ก็ไม่มี บุรุษนั้นจึงดำริว่า “ห้วงน้ำนี้ใหญ่ ฝั่งข้างนี้ น่าหวาดระแวง...ถ้ากระไร เราพึงเก็บรวมเอาหญ้า ท่อนไม้ กิ่งไม้ และใบไม้ มาผูกเป็นแพ แล้วอาศัยแพนั้น พยายามเอาด้วยมือและเท้า พึงข้ามถึงฝั่งโน้นได้โดยสวัสดี”

“คราวนั้น เขาจึง...ผูกแพ...ข้ามถึงฝั่งโน้นโดยสวัสดี ครั้นเขาได้ข้ามไป ขึ้นฝั่งข้างโน้นแล้ว ก็มีความดำริว่า ‘แพนี้ มีอุปการะแก่เรามากแท้ เราอาศัยแพนี้…ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้นเทินบนศีรษะ หรือแบกขึ้นบ่าไว้ ไปตามความปรารถนา”

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายจะเห็นเป็นอย่างไร? บุรุษนั้น ผู้กระทำอย่างนี้ จะชื่อว่า เป็นผู้กระทำถูกหน้าที่ต่อแพนั้น หรือไม่?”

(ภิกษุทั้งหลายทูลตอบว่า ไม่ถูก จึงตรัสต่อไปว่า)

“บุรุษนั้นทำอย่างไร จึงจะชื่อว่าทำถูกหน้าที่ต่อแพนั้น? ในเรื่องนี้ บุรุษนั้น เมื่อได้ข้ามไปถึงฝั่งโน้นแล้ว มีความดำริว่า ‘แพนี้ มีอุปการะแก่เรามากแท้…ถ้ากระไร เราพึงยกแพนี้ขึ้นไว้บนบก หรือผูกให้ลอยอยู่ในน้ำ แล้วจึงไปตามปรารถนา’ บุรุษผู้นั้นกระทำอย่างนี้ จึงจะชื่อว่า เป็นผู้กระทำถูกหน้าที่ต่อแพนั้น นี้ฉันใด”

ธรรม ก็อุปมาเหมือนแพ เราแสดงไว้ เพื่อมุ่งหมายให้ใช้ข้ามไป มิใช่เพื่อให้ยึดถือไว้ ฉันนั้น เมื่อเธอทั้งหลาย รู้ทั่วถึงธรรม อันมีอุปมาเหมือนแพ ที่เราแสดงแล้ว พึงละเสียแม้ซึ่งธรรมทั้งหลาย จะป่วยกล่าวไปไยถึงอธรรมเล่า”1090

“ภิกษุทั้งหลาย ทิฏฐิ (ทฤษฎี หลักการ ความเข้าใจธรรม) ที่บริสุทธิ์ถึงอย่างนี้ ผุดผ่องถึงอย่างนี้ ถ้าเธอทั้งหลาย ยังยึดติดอยู่ เริงใจกระหยิ่มอยู่ เฝ้าถนอมอยู่ ยึดถือว่าเป็นของเราอยู่ เธอทั้งหลายจะพึงรู้ทั่วถึงธรรม อันมีอุปมาเหมือนแพ ที่เราแสดงแล้วเพื่อมุ่งหมายให้ใช้ข้ามไป มิใช่เพื่อให้ยึดถือเอาไว้ ได้ละหรือ?”1091

พุทธพจน์ทั้งสองแห่งนี้ นอกจากเป็นเครื่องเตือนไม่ให้ยึดมั่นถือมั่นในธรรมทั้งหลาย (แม้ที่เป็นความจริง ความถูกต้อง) โดยมิได้ถือเอาประโยชน์จากธรรมเหล่านั้นตามความหมาย คุณค่า และประโยชน์ตามความเป็นจริงของมันแล้ว ข้อที่สำคัญยิ่งก็คือ เป็นการย้ำให้มองเห็นธรรมทั้งหลาย ในฐานะเป็นอุปกรณ์ หรือวิธีการที่จะนำไปสู่จุดหมาย มิใช่สิ่งลอยๆ หรือจบในตัว


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |