ไปยังหน้า : |
ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือ การให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่ บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดี และคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย
ความจริงปัญหาเช่นนี้เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามทั้งสองนี้มาปนเปกันไม่รู้จักแยกขอบเขตและขั้นตอนให้ถูกต้อง ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้นเอง คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน แทนที่จะเข้าใจความหมายของ“ทำดีได้ดี” ว่าเท่ากับ ทำความดีได้ความดี หรือทำความดี ก็มีความดี หรือทำความดี ก็เป็นเหตุให้ความดีเกิดมีขึ้น หรือทำความดี ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้วได้ผลประโยชน์หรือได้อามิสที่ตนชอบใจ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้จึงควรศึกษากันให้ชัดเจน
จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา คือความสับสนเกี่ยวกับขอบเขตที่แยกต่างหากจากกัน และที่สัมพันธ์กันระหว่างกรรมนิยามกับสมมตินิยาม เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้ เบื้องแรกขอให้พิจารณาการให้ผลของกรรม โดยแบ่งเป็น ๔ ระดับคือ
๑. ระดับภายในจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติคือกุศลธรรมและอกุศลธรรมคุณภาพและสมรรถภาพของจิต มีอิทธิพลปรุงแต่งความรู้สึกนึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุขความทุกข์เป็นต้น อย่างไรบ้าง
๒. ระดับบุคลิกภาพ ว่ากรรมทำให้เกิดผลในด้านการสร้างเสริมนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติการแสดงออก ท่าที การวางตนปรับตัว อาการตอบสนอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และต่อสถานการณ์หรือสภาพแวดล้อมทั่วๆ ไปอย่างไรบ้าง การให้ผลระดับนี้ต่อเนื่องออกมาจากระดับที่ ๑ นั่นเอง และมีขอบเขตคาบเกี่ยวกัน แต่แยกพิจารณาเพื่อให้มองเห็นแง่มุมของการให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น
๓. ระดับวิถีชีวิตของบุคคล ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้รับประสบการณ์ที่น่าปรารถนาและไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภยศ สุข สรรเสริญ และความสูญเสียต่างๆ ที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่าโลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง ผลระดับนี้อาจแยกมองได้สองด้านคือ