| |
ค) ทำไมจึงทรงยกย่องสังฆทานว่ามีผลมากที่สุด  |   |  

เรื่องที่พูดมานี้ โยงไปถึงคติเกี่ยวกับสังฆทาน ซึ่งเป็นธรรมสำคัญอีกข้อหนึ่ง ทาน คือการให้ ในทางพุทธศาสนา แบ่งเป็น ๒ อย่าง คือ ให้แก่บุคคลหรือให้เจาะจงจำเพาะตัวผู้นั้นผู้นี้ เรียกว่า ปาฏิปุคคลิกทาน และให้แก่สงฆ์หรือให้มุ่งเพื่อส่วนรวม เรียกว่า สังฆทาน

คำสอนในเรื่องนี้มีว่า สำหรับการให้แก่บุคคล การให้แก่คนชั่วหรือคนมีคุณความดีน้อย มีผลน้อย การให้แก่คนมีคุณความดีมาก มีผลมาก แต่การให้แก่ส่วนรวมหรือสงฆ์ มีผลมากกว่าการให้แก่บุคคลไม่ว่ากรณีใดๆ พระพุทธเจ้าทรงแยกประเภทปาฏิปุคคลิกทาน หรือการให้แก่บุคคลออกไป เช่น ให้แก่พระพุทธเจ้า ให้แก่พระปัจเจกพุทธเจ้า ให้แก่พระอรหันตสาวก ตลอดลงไปจนถึงให้แก่ปุถุชนมีศีล ปุถุชนทุศีล และให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน ทรงเปรียบเทียบว่า ให้แก่สัตว์ดิรัจฉาน มีคุณความดีเป็นร้อย ให้แก่ปุถุชนทุศีล มีคุณความดีเป็นพัน ให้แก่ปุถุชนมีศีล มีคุณเป็นแสน ให้แก่นักบวชภายนอกที่ไม่มีราคะ มีคุณเป็นแสนโกฏิ ให้แก่พระโสดาบัน มีคุณเป็นอสงไขย ให้แก่บุคคลมีคุณความดียิ่งกว่านั้นไป เป็นอันไม่ต้องพูดถึง

ส่วนของที่ให้เพื่อสงฆ์ ก็อาจจะถวายแก่สงฆ์สองฝ่าย (ภิกษุสงฆ์ และภิกษุณีสงฆ์) มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข ซึ่งนับว่าเป็นสังฆทานขั้นครบถ้วนที่สุด ถัดจากนั้น ก็อาจถวายแก่สงฆ์สองฝ่ายในเมื่อพระพุทธเจ้าปรินิพพานแล้ว ตลอดลงมาจนถึงถวายโดยให้จัดภิกษุหรือภิกษุณีจำนวนเท่านั้นเท่านี้จากสงฆ์มารับ (เป็นตัวแทนสงฆ์ โดยไม่เจาะจงว่าองค์นั้นองค์นี้) หรือแม้แต่เมื่อกาลเวลาล่วงไปนาน ธรรมวินัยจวนจะสิ้น จะถวายแก่พวกพระทุศีลเหลือแต่ผ้าเหลืองห้อยคอ แต่ถวายในนามของสงฆ์ ก็ยังมีผลมากมาย พระพุทธเจ้าทรงสรุปว่า

“เราไม่กล่าวว่า ปาฏิปุคคลิกทาน (ให้แก่บุคคล) มีผลมากกว่าของที่ให้แก่สงฆ์ โดยปริยายใดๆ เลย” 1907

พระพุทธเจ้าเคยทรงสนทนากับคฤหบดีคนหนึ่งในเรื่องนี้

ตรัสถาม: นี่แน่ะท่านคฤหบดี ทานในตระกูล ท่านยังให้อยู่หรือ?

คฤหบดีทูลตอบ: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์ยังให้อยู่ และทานนั้น ข้าพระองค์ถวายในพระภิกษุผู้ถืออยู่ป่า ถือบิณฑบาต ถือครองผ้าบังสุกุล ซึ่งเป็นพระอรหันต์ หรือบรรลุอรหัตตมรรค

พระพุทธเจ้าได้ตรัสแนะนำว่า ท่านคฤหบดีเป็นคฤหัสถ์ อยู่ครองเรือน ยุ่งอยู่กับครอบครัว ยากที่จะรู้ได้ว่า พระองค์ไหนเป็นพระอรหันต์ หรือบรรลุอรหัตตมรรค


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |