ไปยังหน้า : |
หลักธรรมที่เป็นเครื่องวัดความพร้อม และบ่งชี้ความก้าวหน้าช้าหรือเร็วของบุคคล ในการปฏิบัติธรรม ได้แก่ อินทรีย์ ๕ คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ และปัญญา หลักธรรมชุดนี้ ใช้สำหรับการปฏิบัติธรรมได้ทั่วไปตั้งแต่ต้นจนถึงที่สุด มิใช่ใช้เฉพาะสำหรับการเจริญสมาธิเท่านั้น
อินทรีย์ แปลว่า สภาพที่เป็นใหญ่ในกิจของตน คือ ธรรมที่เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่อย่างหนึ่งๆ ในที่นี้ หมายถึง เป็นเจ้าการในการทำหน้าที่กำจัดกวาดล้างอกุศลธรรม ซึ่งเป็นฝ่ายตรงข้าม เช่น ความเพียรกำจัดความเกียจคร้าน ทำให้เกิดความพร้อมในการทำงาน และปฏิบัติธรรมก้าวหน้าไปได้
ความหมายของ อินทรีย์ ๕ อย่างนั้น ท่านแสดงไว้พอสรุปได้ ดังนี้ 1688
๑. ศรัทธา (เรียกเต็มว่า สัทธินทรีย์) พึงเห็นได้ใน โสดาปัตติยังคะ ๔ ว่าโดยสาระก็คือ ศรัทธาในตถาคตโพธิ หรือตถาคตโพธิสัทธา นั่นเอง กิจหรือหน้าที่ของศรัทธา คือ ความน้อมใจดิ่ง มุ่งดิ่งไป ปลงใจ ปักใจ (อธิโมกข์) ความหมายที่ต้องการว่า ความเชื่อที่มีเหตุผล มั่นใจในความจริง ความดี ของสิ่งที่นับถือ หรือปฏิบัติ
๒. วิริยะ (เรียกเต็มว่า วิริยินทรีย์) พึงเห็นได้ใน สัมมัปธาน ๔ บางแห่งว่า ความเพียรที่ได้ด้วยปรารภสัมมัปปธาน ๔ หรือตัวสัมมัปปธาน ๔ นั้นเอง บางทีก็พูดให้สั้นลงว่า ความเพียรเพื่อละอกุศลธรรม และทำกุศลธรรมให้ถึงพร้อม การมีความแกล้วกล้าแข็งขันบากบั่นมั่นคง ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม หน้าที่ของวิริยะ คือ การยกจิตไว้ (ปัคคหะ) ความหมายสามัญว่า ความเพียรพยายาม มีกำลังใจ ก้าวหน้า ไม่ท้อถอย
๓. สติ (เรียกเต็มว่า สตินทรีย์) พึงเห็นได้ใน สติปัฏฐาน ๔ บางแห่งว่า สติที่ได้ด้วยปรารภสติปัฏฐาน ๔ หรือตัวสติปัฏฐาน ๔ นั่นเอง บางทีให้ความหมายง่ายลงมาว่า การมีสติ การมีสติครองตัวที่ยวดยิ่ง สามารถระลึกนึกทวนถึงกิจที่ทำ คำที่พูดแล้ว แม้นานได้ หน้าที่ของสติ คือ การดูแล หรือคอยกำกับจิต (อุปัฏฐาน) ความหมายสามัญว่า ความระลึกได้ กำกับใจไว้กับกิจ นึกได้ถึงสิ่งที่พึงทำพึงเกี่ยวข้อง