| |
หลักการพื้นฐานแห่งการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าว่า ความสุขลุถึงได้ด้วยความสุข |  

เพื่อให้เห็นทัศนคติของพระพุทธศาสนาต่อความสุขชัดเจนยิ่งขึ้น ขอย้อนกลับไปขยายข้อความที่อ้างไว้ตอนต้นบทความนี้ว่า จุดหมายสูงสุดของพระพุทธศาสนา พึงบรรลุได้ด้วยความสุข หรือด้วยข้อปฏิบัติที่มีความสุข มิใช่บรรลุด้วยความทุกข์ หรือด้วยข้อปฏิบัติที่เป็นทุกข์

ครั้งหนึ่ง โพธิราชกุมารกราบทูลแสดงทัศนะแด่พระพุทธเจ้า และมีพุทธดำรัสดังความต่อไปนี้:

โพธิราชกุมาร: ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ หม่อมฉันมีความเห็นอย่างนี้ว่า ความสุขจะพึงบรรลุด้วยความสุข หาได้ไม่ ความสุขจะพึงบรรลุได้ ก็ด้วยความทุกข์

พระพุทธเจ้า: ดูกรราชกุมาร ก่อนแต่สัมโพธิ เมื่อเป็นโพธิสัตว์ ยังมิได้ตรัสรู้ แม้เราก็ได้มีความ คิดดังนี้ว่า ความสุขจะพึงบรรลุด้วยความสุข หาได้ไม่ ความสุขจะพึงบรรลุได้ ก็ด้วยความทุกข์

พระพุทธเจ้าตรัสเล่าต่อไปว่า ด้วยพระดำริดังกล่าวนี้ ต่อมาพระองค์ก็ได้เสด็จออกบรรพชา ทรงศึกษาในสำนักของอาฬารดาบส กาลามโคตร และอุททกดาบส รามบุตร จนจบความรู้ของสำนักทั้งสองแล้ว เสด็จต่อไปจนถึงอุรุเวลาเสนานิคม แล้วทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา ทรมานพระองค์ด้วยวิธีการต่างๆ จนในที่สุดทรงอดอาหาร จนพระวรกายซูบผอมอย่างยิ่ง ดังบาลีที่ตรัสเล่าไว้ว่า

“เพราะความเป็นผู้มีอาหารน้อยนั่นแล อวัยวะน้อยใหญ่ของเรา จึงกลายเป็นเหมือนเถาวัลย์แปดสิบข้อ หรือเหมือนเถาวัลย์ข้อดำ ตะโพกของเรา เป็นเสมือนเท้าอูฐ กระดูกสันหลังผุดระกะ เหมือนเถาวัฏฏนาวฬี ซี่โครงขึ้นนูนเป็นร่องๆ ดังกลอนศาลาเก่าที่เครื่องมุงหล่นโทรมอยู่ ดวงตาบุ๋มลึกเข้าไปในเบ้าตา ประหนึ่งดวงดาวปรากฏในบ่อน้ำลึก ผิวศีรษะที่รับสัมผัสอยู่ก็เหี่ยวแห้ง ดุจดังผลน้ำเต้าสดที่ตัดมาทั้งสดๆ ถูกลมและแดดกระทบเหี่ยวแห้งไปฉะนั้น เราคิดว่าจะลูบผิวหนังท้อง ก็จับถูกกระดูกสันหลัง คิดว่าจะลูบสันหลัง ก็จับถูกหนังท้อง หนังท้องกับกระดูกสันหลังติดถึงกัน เมื่อคิดว่าจะถ่ายอุจจาระหรือปัสสาวะ ก็ซวนเซล้มลง ณ ที่นั้นเอง เมื่อจะให้กายนี้มีความสบาย เอามือลูบตัว ขนทั้งหลายมีรากเน่า ก็หลุดร่วงจากกาย”


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |