| |
ข) หลักสมถะที่เป็นฐาน  |   |  

หลักปฏิบัติที่แสดงไว้ในบาลี คือพระไตรปิฎก แม้จะมาในที่ต่างแห่ง ก็มักมีข้อความบรรยายไว้อย่างเดียวกัน เป็นสำนวนแบบที่ค่อนข้างตายตัว ว่าโดยทั่วไป

สำนวนแบบที่แสดงหลักปฏิบัติครบทั้งสมถะและวิปัสสนาต่อเนื่องกัน มีอยู่ ๒ สำนวน และทั้งสองสำนวนล้วนแสดงหลักปฏิบัติที่เรียกได้ว่าเป็นวิปัสสนาครอบยอดสมถะ คือ บำเพ็ญสมถะจนครบถ้วนบริบูรณ์ ถึงสุดยอดของสมถะก่อนแล้ว จึงหันมาเจริญวิปัสสนาต่อท้าย จัดได้ว่าเป็นมาตรฐานการปฏิบัติแบบสูงสุด

ในที่นี้ จะคัดมาให้ดูทั้ง ๒ แบบ และเพื่อให้คำอธิบายชัดเจน กับทั้งเพื่อให้สมเป็นมาตรฐานสูงสุดแท้จริง จึงจะคัดเอาข้อความที่บรรยายการตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าทั้งสองสำนวน ดังนี้

สำนวนที่ ๑ เป็นแบบที่พบบ่อย และคุ้นตากันที่สุด แสดงฌาน ๔ ต่อด้วยวิชชา ๓

“ดูกรอัคคิเวสสนะ เรานั้นแล (ฉันอาหารหยาบ ให้กายได้กำลังแล้ว) สงัดจากกามทั้งหลาย สงัดจากอกุศลธรรมทั้งหลาย บรรลุปฐมฌาน...บรรลุทุติยฌาน...บรรลุตติยฌาน...บรรลุจตุตถฌาน...อยู่

“เรานั้น ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ บริสุทธิ์ ผ่องใส ไม่มีฝ้ามัว ปราศจากอุปกิเลส เป็นของนุ่มนวล ควรแก่งาน ตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวอย่างนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่อปุพเพนิวาสานุสติญาณ (ญาณที่ให้ระลึกถึงขันธ์อันเคยอาศัยอยู่ในก่อนได้ – ระลึกชาติได้)...(วิชชาที่ ๑ นี้แล เราบรรลุแล้วในปฐมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว วิชชาเกิดขึ้นแล้ว ความมืดถูกกำจัดแล้ว แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว...)

“เรานั้น ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ...อย่างนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่อจุตูปปาตญาณ (ณาณกำหนดรู้จุติและอุบัติแห่งสัตว์ทั้งหลายที่เป็นไปตามกรรม)...(วิชชาที่ ๒ นี้แล เราบรรลุแล้วในมัชฌิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว...แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว...)

“เรานั้น ครั้นเมื่อจิตเป็นสมาธิ...อย่างนี้แล้ว ก็น้อมจิตไปเพื่ออาสวักขยญาณ (ญาณที่ทำให้สิ้นอาสวะ = ตรัสรู้), เรานั้น รู้ชัดตามที่มันเป็นว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา, รู้ชัดตามที่มันเป็นว่า เหล่านี้อาสวะ นี้อาสวสมุทัย นี้อาสวนิโรธ นี้อาสวนิโรธคามินีปฏิปทา, เรานั้น เมื่อรู้อยู่เห็นอยู่อย่างนี้ จิตก็หลุดพ้นแล้ว แม้จากกามาสวะ แม้จากภวาสวะ แม้จากอวิชชาสวะ

“เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณว่าหลุดพ้นแล้ว, เรารู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำแล้ว กิจอื่นอีกเพื่อความเป็นอย่างนี้ ไม่มี; (วิชชาที่ ๓ นี้แล เราบรรลุแล้วในปัจฉิมยามแห่งราตรี อวิชชาถูกกำจัดแล้ว...แสงสว่างเกิดขึ้นแล้ว...)” 906

สำนวนแบบที่ ๑ ซึ่งบรรยายลำดับการปฏิบัติเพื่อบรรลุธรรมของสาวกโดยทั่วไป ก็มีข้อความอย่างเดียวกันนี้ ต่างแต่เพียงไม่มีข้อความในวงเล็บ 907


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |