| |
มิจฉาปฏิปทา – สัมมาปฏิปทา  |   |  

บางแห่งทรงจัดปฏิจจสมุปบาทสมุทยวาร เป็นมิจฉาปฏิปทา และปฏิจจสมุปบาทนิโรธวาร เป็นสัมมา-ปฏิปทา เขียนให้ดูง่ายได้ ดังนี้

มิจฉาปฏิปทา: อวิชชาสังขารวิญญาณ ฯลฯ → ชาติ → ชรามรณะ โสกะ ฯลฯ อุปายาส = เกิดทุกข์

สัมมาปฏิปทา: อวิชชาดับ → สังขารดับ → วิญญาณดับ ฯลฯ → ชาติดับ → ชรามรณะดับ โสกะ ฯลฯ อุปายาส ดับ = ดับทุกข์1054

แต่อีกแห่งหนึ่ง ทรงแสดงข้อปฏิบัติที่ตรงข้ามกับมรรค ว่าเป็นมิจฉาปฏิปทา และแสดงมรรค ว่าเป็นสัมมาปฏิปทา ดังนี้

มิจฉาปฏิปทา: มิจฉาทิฏฐิ + มิจฉาสังกัปปะ + มิจฉาวาจา + มิจฉากัมมันตะ + มิจฉาอาชีวะ + มิจฉาวายามะ + มิจฉาสติ + มิจฉาสมาธิ

สัมมาปฏิปทา: สัมมาทิฏฐิ + สัมมาสังกัปปะ + สัมมาวาจา + สัมมากัมมันตะ + สัมมาอาชีวะ + สัมมาวายามะ + สัมมาสติ + สัมมาสมาธิ1055

ปฏิจจสมุปบาท เป็นกระบวนการของธรรมชาติ แสดงแต่สภาวธรรม ไม่ใช่ปฏิปทา แต่ปฏิปทาถูกผิดชุดแรกในที่นี้ กลับแสดงตามแนวปฏิจจสมุปบาท จะขัดกันหรือไม่ คำตอบน่าจะมีว่า ปฏิจจสมุปบาทที่ยกมาแสดงในกรณีนี้ (ที่แสดงเป็นปฏิปทาอย่างนี้ มีแห่งเดียวนี้เท่านั้น) มุ่งให้เล็งหรือส่อไปถึงการปฏิบัติของคน

อรรถกถาที่อธิบายพระสูตรนี้ ตั้งข้อสงสัยว่า อวิชชาเป็นปัจจัยให้เกิดความคิดทำดี เป็นบุญ (ปุญญาภิสังขาร) ก็ได้ ให้เกิดแรงชักจูงภาวะจิตแน่วแน่มั่นคงอย่างสูง (อาเนญชาภิสังขาร) ก็ได้ เหตุใดจึงว่าเป็นมิจฉา-ปฏิปทา แล้วท่านก็เฉลยเองว่า คนที่ปรารถนาภพ คิดมุ่งจะเอาจะเป็น ไม่ว่าจะทำอะไร แม้แต่จะทำอภิญญา ๕ หรือสมาบัติ ๘ ให้เกิดขึ้น ก็เป็นมิจฉาปฏิปทา ส่วนคนที่มุ่งนิพพาน คิดสละคลายออก (ใจโปร่งเป็นอิสระ) ไม่คิดจะเอาจะเป็น แม้แต่ให้ทานอะไรไปสักนิดหน่อย ก็เป็นสัมมาปฏิปทา 1056

อย่างไรก็ตาม การนำเอามิจฉาปฏิปทา และสัมมาปฏิปทา ๒ คู่ข้างต้นนี้ มาวางเทียบกันไว้ มีความประสงค์เพียงให้เป็นเครื่องประกอบการพิจารณาเกี่ยวกับการก้าวจากกระบวนการของธรรมชาติในนิโรธ ออกมาสู่การปฏิบัติของมนุษย์ในมรรค ดังได้กล่าวแล้วข้างต้น แต่คราวนี้มีข้อสังเกตเพิ่มขึ้นอีกหน่อยหนึ่งว่า นอกจากแสดงกระบวนธรรมและการปฏิบัติฝ่ายดีแล้ว ท่านยังได้แสดงกระบวนธรรมและการปฏิบัติฝ่ายร้ายหรือฝ่ายผิดไว้ด้วย

ยังมีพุทธพจน์แสดงปฏิจจสมุปบาทในรูปกระบวนการดับทุกข์อีกแบบหนึ่ง ซึ่งแปลกไปจากแบบที่กล่าวมาแล้วข้างต้น คือ ท่อนต้น แสดงกระบวนการเกิดทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาทสมุทยวารอย่างปกติมาโดยตลอด จนถึงทุกข์เกิดขึ้นแล้ว แต่ต่อจากนั้น แทนที่จะแสดงกระบวนการดับทุกข์ตามหลักปฏิจจสมุปบาทนิโรธวารต่อไป กลับแสดงกระบวนการแห่งกุศลธรรมต่างๆ ที่ส่งผลต่อเนื่องกันไปตามลำดับ จนถึงความหลุดพ้น เป็นกระบวนธรรมแบบใหม่ล้วน ไม่กล่าวถึงการดับองค์ธรรมต่างๆ ในปฏิจจสมุปบาทฝ่ายสมุทยวารแต่อย่างใดเลย


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |