| |
สัมมาทิฏฐิ กับการศึกษา  |   |  

ในแง่ของการศึกษา กล่าวได้ว่า คนเริ่มมีการศึกษา เมื่อเขามีสัมมาทิฏฐิ บางท่านอาจมองในแง่จากภายนอกเข้าไปตามนัยแห่งไตรสิกขา โดยถือเอาศีลเป็นที่เริ่มต้น แล้วกล่าวว่า การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนประพฤติสุจริต1430 แต่คำกล่าวเช่นนี้ยังนับว่าไม่เข้าถึงตัวการศึกษา หรือแก่นแท้ของการศึกษา เพราะการฝึกปรือในขั้นศีลให้มีสุจริต ก็ด้วยมุ่งสร้างสมนิสัยหรือความเคยชินในทางที่ดีงาม เป็นทางนำคนระดับเวไนยไปสู่การมองเห็นคุณค่าของความประพฤติสุจริตเช่นนั้น (นี้คือแง่ที่พฤติกรรมกลับเป็นฝ่ายปรุงแต่งค่านิยมได้ เช่นเดียวกับปัจจัยทางสังคมอย่างอื่นๆ)

เมื่อใดคนมองเห็นคุณค่า เกิดความเข้าใจซาบซึ้ง และใฝ่นิยมความสุจริต เป็นสัมมาทิฏฐิแล้ว เมื่อนั้นศีลหรือความประพฤติสุจริต จึงจะแน่นแฟ้นมั่นคงได้ (ตอนนี้ค่านิยมจะเป็นฝ่ายกำหนดพฤติกรรม) และเมื่อนั้นแหละจึงเรียกได้ว่าเขาเป็นผู้มีการศึกษา

พูดอีกอย่างหนึ่งว่า การที่ฝึกปรือในไตรสิกขา เริ่มแต่ศีลไป ก็เพื่อฟักบ่มให้องค์มรรคทั้งหลายเริ่มแต่สัมมาทิฏฐิเกิดขึ้น เมื่อใดองค์มรรคซึ่งมีสัมมาทิฏฐิเป็นตัวนำ บังเกิดขึ้นในบุคคล จึงจะนับได้ว่าเขามีการศึกษา เพราะนับแต่บัดนั้นไป องค์ธรรมทั้งหลายในตัวบุคคลนั้น จึงจะเริ่มเข้าประจำทำหน้าที่สอดประสานส่งทอดต่อกัน

สัมมาทิฏฐิ นอกจากจะทำให้ศีลหรือความประพฤติสุจริตนั้นมั่นคงจริงจังแล้ว ยังช่วยให้การประพฤติศีลเป็นไปด้วยความจริงใจ ไม่เสแสร้ง และเป็นหลักประกันให้ประพฤติได้ถูกต้องตามความหมายและความมุ่งหมายของศีล ไม่ผิดพลาดกลายเป็นสีลัพพตปรามาส หรือถือปฏิบัติโดยงมงายเป็นต้นอีกด้วย

เมื่อใดมีสัมมาทิฏฐิ เมื่อนั้นจึงวางใจในการปฏิบัติศีล หรือไว้ใจในความสุจริตนั้นได้ แต่ถ้ายังไม่มีสัมมาทิฏฐิตราบใด ก็ยังไม่อาจวางใจในศีลตราบนั้น

ถ้าแสดงความหมายอย่างผ่อนลงมา โดยถือเอาปัจจัยของสัมมาทิฏฐิเป็นหลัก ก็อาจกล่าวว่า การศึกษาเริ่มต้น เมื่อคนเริ่มรู้จักคิด (โยนิโสมนสิการ) ความหมายอย่างนี้ก็นับได้ว่าถูกต้อง ด้วยเป็นการกล่าวแบบเล็งความถึงกัน เพราะเมื่อมีโยนิโสมนสิการแล้ว ก็หวังได้ว่าสัมมาทิฏฐิจะเกิดตามมา

ดังจะเห็นได้ว่า แม้แต่การปฏิบัติระดับศีล เมื่อได้โยนิโสมนสิการช่วยนำพฤติกรรม จึงจะทำให้การปฏิบัติดำเนินไปอย่างถูกต้องพอดี และเป็นการกระทำอย่างมีเป้าหมายที่เกื้อกูลเป็นประโยชน์ ทั้งตนเองก็ได้ความเข้าใจ มีความมั่นใจ จิตเป็นกุศล โปร่งผ่องใส

ยกตัวอย่างเช่น ในการแต่งตัวให้สะอาดเรียบร้อย นอกจากคำนึงถึงคุณค่าเพื่อชีวิต คือปกปิดและปกป้องร่างกายจากหนาวร้อนและความละอายเป็นต้นแล้ว โยนิโสมนสิการยังช่วยให้คำนึงในทางเกื้อกูลแก่ผู้อื่นและแก่สังคมอีกด้วย เช่นทำใจว่า เราจะแต่งตัวอย่างนี้ ให้สะอาดเรียบร้อยอย่างนี้ เพื่อความเป็นระเบียบดีงามของหมู่ของชุมชนหรือของสังคม เรานุ่งห่มไม่ให้น่าเกลียดหรือน่ารังเกียจ ให้เรียบร้อยงดงามอย่างนี้ เพื่อรักษาจิตใจของคนอื่นที่เขาพบเห็น ให้เป็นกุศล ไม่เศร้าหมองขุ่นมัว เพื่อช่วยเสริมบรรยากาศให้คนอื่นๆ มีจิตใจผ่องใส โน้มน้อมไปในความดีงาม


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |