| |
๒. เจโตวิมุตติ – ปัญญาวิมุตติ 831  |   |  

เรื่องวิมุตติ ได้พูดถึงบ้างแล้วในตอนว่าด้วยไวพจน์ของนิพพาน และภาวะของผู้บรรลุนิพพาน แต่เห็นควรกล่าวถึงโดยเฉพาะอีกครั้งหนึ่ง เพื่อช่วยให้เข้าใจความหมายชัดเจนตลอดสายยิ่งขึ้น

วิมุตติ หรือความหลุดพ้นนั้น ในระดับสูงสุด ใช้ในความหมายต่างกัน แยกได้เป็น ๓ อย่าง คือ

อย่างแรก การหลุดพ้น กิริยาที่หลุดพ้นออกมาได้ หรืออาการที่เป็นไปในขณะหลุดพ้นเป็นอิสระ วิมุตติในความหมายอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็น มรรค

อย่างที่สอง ความเป็นผู้หลุดพ้น คือความเป็นอิสระในเมื่อหลุดพ้นออกมาได้แล้ว วิมุตติในความหมายอย่างนี้ ท่านเรียกว่าเป็น ผล

อย่างที่สาม ภาวะแห่งความเป็นผู้หลุดพ้น ภาวะแห่งความเป็นอิสระที่ผู้หลุดพ้นหรือผู้เป็นอิสระนั้นเข้าถึง และรู้สึกได้ ซึ่งอำนวยความดีงามต่างๆ มีความสุขสบายปลอดโปร่งโล่งใจเป็นต้น และภาวะแห่งความเป็นอิสระเช่นนั้น ที่ผู้ยังไม่หลุดพ้นกำหนดเป็นอารมณ์ เช่น นึกถึง คำนึงถึง หน่วงเอาเป็นจุดหมายในใจ เป็นต้น วิมุตติในความหมายอย่างนี้ คือที่ใช้เป็นไวพจน์ของนิพพาน คือหมายถึง นิพพาน นั่นเอง832

อย่างไรก็ตาม ในความหมาย ๓ อย่างนั้น ข้อที่ถือว่าเป็นความหมายจำเพาะกว่าอย่างอื่น หรือเป็นเรื่องของวิมุตติเองแท้ๆ ก็คือ วิมุตติในความหมายที่เป็นผล และคำว่าผล ในที่นี้ ตามปกติหมายถึงอรหัตตผล (ความสำเร็จเป็นพระอรหันต์ ในเมื่อละสังโยชน์ได้หมดสิ้น จิตพ้นจากอาสวะทั้งหลายแล้ว)

ส่วนในความหมายที่เป็นมรรค ก็มีธรรมข้ออื่นเป็นเจ้าของเรื่องอยู่แล้ว โดยเฉพาะวิชชาและวิราคะ ซึ่งมักมาคู่กันกับวิมุตตินี้ โดยวิชชาเป็นมรรค หรือไม่ก็วิราคะเป็นมรรค วิมุตติเป็นผล

ส่วนในความหมายที่เป็นนิพพาน วิมุตติก็เป็นเพียงไวพจน์ ซึ่งมีนิพพานเป็นคำยืนอยู่แล้ว833

วิมุตติที่เป็นผล โดยเฉพาะอรหัตตผลนั้น ท่านมักแยกให้เห็นชัดเป็น ๒ ด้าน คือ เป็น เจโตวิมุตติ และ ปัญญาวิมุตติ

เจโตวิมุตติ คือความหลุดพ้นทางด้านจิต แปลกันว่า ความหลุดพ้นแห่งจิต หรือความหลุดพ้นด้วยกำลังจิตคือ ด้วยสมาธิ หมายถึง ภาวะจิตที่ประกอบด้วยสมาธิ ซึ่งกำราบราคะลงได้ ทำให้หลุดพ้นจากกิเลสเครื่องผูกมัดทั้งหลาย (ราคะ ในที่นี้ และในบาลีทั่วไป ไม่มีความหมายแคบอย่างที่เข้าใจกันในภาษาไทย คือ ไม่ใช่เรื่องกามเท่านั้น แต่หมายถึง ความติดใจ ความใคร่ ในอารมณ์ต่างๆ ทั้งรูปธรรมและนามธรรม เป็นไวพจน์ของตัณหา และกินความถึงโทสะด้วย เพราะโทสะก็คือแรงผลักที่เป็นปฏิกิริยาของราคะนั่นเอง)


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |