| |
มรรค ในฐานะทางให้ถึงความสิ้นกรรม  |   |  

“มรรคาอันเป็นอริยะ มีองค์ประกอบ ๘ ประการนี้แล เป็นทางนำไปสู่ความดับแห่งกรรม คือ สัมมาทิฏฐิ ฯลฯ สัมมาสมาธิ1089

ในที่นี้ มัชฌิมาปฏิปทามีความหมายว่า เป็นทางให้ถึงความดับกรรม หรือสิ้นกรรม ข้อสำคัญในที่นี้ ก็คือ ต้องไม่เข้าใจว่า เป็นการสิ้นเวรสิ้นกรรม อย่างที่เข้าใจกันทั่วๆ ไปซึ่งเป็นเรื่องแคบๆ ต้องไม่เข้าใจว่าจะหมดกรรมได้โดยไม่ทำกรรม หรือไม่ทำอะไร ซึ่งกลายเป็นลัทธินิครนถ์ไป อย่างที่กล่าวในตอนว่าด้วยกรรม และต้องไม่เข้าใจว่าเป็นทางนำไปสู่ความดับกรรมสิ้นกรรม คือ จะได้เลิกกิจการอยู่นิ่งเฉยไม่ต้องทำอะไร

ประการแรก จะเห็นว่า การที่จะดับกรรม หรือสิ้นกรรมได้ ก็คือต้องทำ และทำอย่างเอาจริงเอาจังเสียด้วย แต่คราวนี้ทำตามหลักมัชฌิมาปฏิปทา ทำตามหลักการวิธีการที่ถูกต้อง เลิกการกระทำที่ผิดพลาด

ประการที่สอง ที่ว่าดับกรรม หรือสิ้นกรรม ไม่ใช่หมายความว่า อยู่นิ่งๆ เลิก ไม่ทำอะไรหมด แต่หมายความว่า เลิกการกระทำอย่างปุถุชน เปลี่ยนเป็นทำอย่างอริยบุคคล

อธิบายง่ายๆ ว่า ปุถุชนทำอะไร ก็ทำด้วยตัณหาอุปาทาน มีความยึดมั่นในความดีความชั่วที่เกี่ยวข้องกับตัวฉันของฉัน ผลประโยชน์ของฉัน ในรูปใดรูปหนึ่ง การกระทำของปุถุชนจึงเรียกตามศัพท์ธรรมว่า “กรรม” แบ่งเป็นดี เป็นชั่ว และก็ยึดถือเอาไว้ว่าเป็นอย่างนั้นๆ ด้วยตัณหาอุปาทาน

ดับกรรม คือ เลิกกระทำการต่างๆ ด้วยความยึดมั่นในความดีชั่ว ที่เกี่ยวข้องกับตัวฉันของฉัน ผลประโยชน์ของฉัน เมื่อไม่มีดีมีชั่วที่ยึดมั่นไว้กับตัว ทำอะไรก็ไม่เรียกว่ากรรม เพราะกรรมต้องเป็นอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ดีก็ชั่ว การกระทำของพระอริยบุคคล จึงเป็นการกระทำไปตามความหมาย และวัตถุประสงค์ของเรื่องที่ทำนั้นล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับตัณหาอุปาทานภายใน

พระอริยบุคคลไม่ทำชั่ว เพราะหมดเหตุปัจจัยที่จะให้ทำชั่ว (ไม่มีโลภะ โทสะ โมหะ ที่จะให้ทำอะไรเพื่อให้ตัวฉันได้ฉันเป็น) ทำแต่ความดีและประโยชน์ เพราะทำการต่างๆ ด้วยปัญญาและกรุณา แต่ที่ว่าดี ก็ว่าตามที่ปรากฏยอมรับของโลก ไม่ได้ยึดว่าเป็นดีของฉัน หรือดีที่จะให้ฉันเป็นอย่างนั้นอย่างนี้

เมื่อปุถุชนบำเพ็ญประโยชน์อะไรสักอย่าง ก็จะไม่มีเพียงการทำประโยชน์ตามความหมายและวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นๆ เท่านั้น แต่ย่อมจะมีความหวังผลประโยชน์ตอบแทนอะไรสักอย่างหนึ่ง ถ้าไม่มี ก็อาจจะละเอียดลงมาเป็นชื่อเสียงเกียรติคุณของฉัน หรือละเอียดลงมาอีก ก็อาจจะเอาพอให้สำหรับรู้สึกอุ่นๆ ภูมิๆ ไว้ภายในว่าเป็นความดีของฉัน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |