ไปยังหน้า : |
พระพุทธเจ้าตรัสว่า พระองค์ได้ทรงบรรลุถึงความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม และความสุขอย่างอื่นที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้นแล้ว จึงทรงยืนยันได้ว่าจะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก แต่ถ้าพระองค์ยังไม่ทรงประสบความสุขที่ประณีตเช่นนั้นแล้ว ก็จะไม่ทรงสามารถยืนยันได้ว่า พระองค์จะไม่ทรงเวียนกลับมาหากามอีก
พร้อมกันนั้นก็ได้ตรัสทำนองเตือนผู้ปฏิบัติธรรมให้ระลึกไว้ว่า ถึงหากอริยสาวกจะมองเห็นอย่างชัดเจนตามความเป็นจริงด้วยสัมมาปัญญาว่า กามทั้งหลายมีความหวานชื่นน้อย มีทุกข์มาก มีความคับแค้นมาก โทษในกามนี้มากยิ่งนัก แต่ถ้าอริยสาวกนั้นยังไม่ประสบ ยังไม่รู้จักปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ประณีตยิ่งไปกว่านั้น ก็ยังวางใจไม่ได้ว่าเธอจะไม่วกเวียนกลับมาหากามอีก2088
ในทำนองเดียวกันนั้น ได้ตรัสเตือนภิกษุทั้งหลายไว้โดยจำเพาะว่า ถ้าผู้บวชแล้ว ยังมิได้ประสบปีติและความสุขที่ไม่ต้องอาศัยกาม หรือความสุขที่ลึกซึ้งยิ่งกว่านั้น กิเลสทั้งหลาย เช่น อภิชฌา พยาบาท ความฟุ้งซ่าน เกียจคร้าน เบื่อหน่าย ก็จะเข้าครอบงำจิตได้ 2089 หมายความว่า ก็จะไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ หรือทนประพฤติพรหมจรรย์อยู่ไม่ได้
ความที่ยกมาอ้างเหล่านี้ นอกจากจะแสดงให้เห็นว่า พระพุทธศาสนาถือความสุขเป็นเรื่องสำคัญแล้ว ยังให้ข้อสังเกตต่อไปอีกว่า การที่อริยสาวกละกามนั้น มิใช่เป็นเพราะกามไม่มีความสุข หรือเพราะพระพุทธศาสนาสอนให้ละเว้นความสุข พระพุทธศาสนายอมรับความสุขตามที่เป็นจริง สอนให้ปฏิบัติเพื่อบรรลุความสุข และยอมรับว่ากามมีความสุข แต่อริยสาวกละกาม เพราะเห็นว่า กามมีความสุขก็จริง แต่ยังปะปนด้วยทุกข์มาก และข้อสำคัญก็คือ ยังมีความสุขอย่างอื่นที่สุขกว่า ลึกซึ้งประณีตกว่าสุขที่เกิดจากกาม หรือความสุขที่เกิดจากการเสพเสวยรสอร่อยของโลกอย่างสามัญชน อริยสาวกละกาม ก็เพราะได้ประสบความสุขที่ประณีตกว่านั้น
ความข้อนี้แสดงว่า ความสุขมีแตกต่างกัน เป็นขั้น เป็นระดับ สิ่งที่ควรศึกษาในตอนนี้ก็คือว่า พระพุทธศาสนาจัดแบ่งความสุขออกเป็นขั้น หรือระดับ อย่างไร
ในคัมภีร์อังคุตตรนิกาย ทุกนิบาต ทรงจำแนกความสุขออกไปทั้งโดยประเภท และโดยระดับ เป็นคู่ๆ มากมายหลายคู่ เช่น สุขของคฤหัสถ์กับสุขของบรรพชิต กามสุขกับเนกขัมมสุข โลกิยสุขกับโลกุตรสุข สุขของพระอริยะกับสุขของปุถุชน เป็นต้น 2090
แต่วิธีแบ่งที่เป็นลำดับขั้นชัดเจน ละเอียด และดูง่าย ไม่ซับซ้อน น่าจะได้แก่วิธีแบ่งเป็น ๑๐ ขั้น หรือความสุข ๑๐ ขั้น ซึ่งมีในที่มาหลายแห่ง แบ่งดังนี้ 2091
๑. กามสุข สุขเนื่องด้วยกาม ได้แก่ ความสุขโสมนัสที่เกิดขึ้นด้วยอาศัยกามคุณ ๕
๒. ปฐมฌานสุข สุขเนื่องด้วยปฐมฌาน ซึ่งสงัดจากกามและอกุศลธรรมทั้งหลาย ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา
๓. ทุติยฌานสุข สุขเนื่องด้วยทุติฌาน ซึ่งประกอบด้วย ปีติ สุข และเอกัคคตา