ไปยังหน้า : |
๓. นิโรธ คือ ความดับทุกข์ หรือภาวะหมดปัญหา: เมื่อได้กล่าวถึงทุกข์ หรือปัญหา พร้อมทั้งสาเหตุ ที่เป็นเรื่องร้ายไม่น่าพึงใจแล้ว พระพุทธเจ้าก็ทรงชโลมดวงใจของเวไนยชน ให้เกิดความเบาใจ และให้มีความหวังขึ้น ด้วยการตรัสอริยสัจข้อที่ ๓ คือ นิโรธ บอกให้รู้ว่า ทุกข์ที่บีบคั้นนั้นดับได้ ปัญหาที่กดดันนั้นแก้ไขได้ ทางออกที่น่าพึงใจมีอยู่ ทั้งนี้ เพราะสาเหตุแห่งปัญหาหรือบรรดาทุกข์นั้น เป็นสิ่งที่แก้ไขกำจัดหรือทำให้หมดสิ้นไปได้
ทุกข์หรือปัญหา ตั้งอยู่ได้ด้วยอาศัยเหตุ เมื่อกำจัดเหตุแล้ว ทุกข์ที่เป็นผล ก็พลอยดับสิ้นไปด้วย เมื่อทุกข์ดับไป ปัญหาหมดไป ก็ถึงภาวะหมดปัญหา มีภาวะไร้ทุกข์ปรากฏขึ้นมาอย่างเป็นไปเอง วุ่นหายกลายเป็นว่าง หลุดโล่ง โปร่งเบา ปลอดพ้นไปได้ เป็นอิสระ หมดจด สดใส โดยนัยนี้ นิโรธอริยสัจ จึงตามเข้ามาเป็นลำดับที่ ๓ ทั้งโดยความเป็นไปตามธรรมดาของกระบวนธรรมเอง และทั้งโดยความเหมาะสมแห่งกระบวนวิธีการสอน ที่ชวนสนใจ ช่วยให้เข้าใจ สอนได้ผล และชวนให้ก้าวสู่การปฏิบัติเพื่อประจักษ์ผลที่เป็นจริง
เมื่อกำจัดตัณหา พร้อมทั้งกิเลสว่านเครือที่บีบคั้นครอบงำและหลอนล่อจิตลงได้ จิตก็ไม่ต้องถูกทรมานด้วยความเร่าร้อน ร่านรน กระวนกระวาย ความหวาดหวั่น ความกระทบกระทั่ง ความหงอยเหงา และความเบื่อหน่าย ไม่ต้องหวังความสุขแบบขอไปทีเพียงด้วยการหนีหลบออกไปจากอาการเหล่านี้ หรือแก้ไขทุกข์ด้วยการหาอะไรมากลบปิดไว้ หรือมาทดแทน หรือหาทางไประบายออกข้างนอก พอผ่านหรือพ้นไปคราวหนึ่งๆ