| |
กลไกชีวิตในการกระทำ  |   |  

มีข้อสงสัยว่า คนทั้งหลายที่ทำอะไรต่างๆ นี้ ก็ทำด้วยความอยากทั้งนั้น คือมีความอยากจะทำ จึงทำ และอยากทำอะไร ก็ทำอันนั้น ถ้าหมดตัณหา ไม่มีความอยากเสียแล้ว ไม่มีตัณหาเป็นแรงชักจูงให้ทำโน่นทำนี่แล้ว ก็ไม่ต้องเคลื่อนไหวอะไรเลย แล้วจะอยู่ได้อย่างไร มิกลายเป็นคนนิ่งเฉย ไม่กระตือรือร้น ไม่มีชีวิตชีวาไปหรือ คงเป็นอย่างที่เรียกว่าหมดอาลัยตายอยาก

ข้อสงสัยนี้ ที่จริงไม่ต้องตอบ เดี๋ยวก็เข้าใจเอง ตอนแรก ขอให้มองง่ายๆ ว่า ที่ว่าทำอะไรๆ ทุกอย่างนั้น ก็รวมอยู่ในการเคลื่อนไหว ไม่ว่าจะทำอะไร ก็เคลื่อนไหวทั้งนั้น (แม้แต่ “ทำการไม่เคลื่อนไหว” ก็ต้องมีการเคลื่อนไหวในใจ)

เป็นธรรมดาตามธรรมชาติ การเคลื่อนไหวเป็นลักษณะที่สำคัญของชีวิต เมื่อเป็นชีวิต และยังมีชีวิต ก็มีการเคลื่อนไหว ถามว่า ที่คนสัตว์ทั้งหลายเคลื่อนไหวทำอะไรๆ นั้น เคลื่อนไหวทำไปได้อย่างไร หรือว่าชีวิตมีกลไกการทำงานอย่างไร ในการเคลื่อนไหวทำการต่างๆ

อย่างที่เคยพูดแล้ว คนสัตว์ไม่เหมือนใบไม้กิ่งไม้ ที่สบัดไหวแกว่งไกวไปตามแรงลม เป็นต้น ซึ่งเป็นปัจจัยภายนอก แต่คนสัตว์เคลื่อนไหวทำอะไรได้เองจากปัจจัยภายใน แล้วปัจจัยภายในเหล่านั้นมีอะไรบ้าง

เมื่อด้านร่างกายอวัยวะยังดี พร้อมที่จะขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวแล้ว ในใจ เริ่มด้วยต้องมีความรู้ว่าข้างหน้าข้างหลัง ข้างบนข้างล่าง ที่ไกลที่ใกล้ ตรงไหนมีหรือไม่มีอะไร ฯลฯ พูดง่ายๆ ว่ารู้ที่ที่จะไปได้ คือมีความรู้

เมื่อรู้ที่ไปแล้ว ทีนี้ก็ต้องเลือก ตกลง ตัดสินใจว่าจะไปที่ไหน ทางไหน ตลอดจนว่าจะทำอะไร อย่างไร ตัวการในใจที่ทำการตัดสินตกลงใจ หรือตัวเจ้าของอำนาจตัดสินใจนี้ ซึ่งเป็นตัวบงการ หรือสั่งการนั้น เรียกว่าเจตนา

ถามต่อไปว่า เมื่อรู้ที่ที่จะไป รู้เรื่องที่จะทำแล้ว เจตนาจะเลือกตัดสินใจไปไหน จะทำอันใด ตรงนี้แหละสำคัญ คือ เจตนาก็มีแรงจูงใจให้เลือกตัดสินใจ โดยทำตามแรงจูงใจนั้น ถ้าพูดให้ง่ายๆ อย่างภาษาชาวบ้าน แรงจูงใจนี้ก็คือความอยาก เมื่ออยากไปไหน อยากได้ อยากทำอะไร เจตนาก็เลือกตัดสินใจเคลื่อนไหวไปนั่น ไปทำอันนั้น

ก็ถามต่อไปว่า ความอยากนี้คืออะไร อย่างง่ายๆ ก็บอกว่า ความอยากก็มาจากความชอบใจและไม่ชอบใจ ตัวชอบอะไร อะไรถูกลิ้นถูกหูถูกตาถูกใจ ก็อยากได้ อยากเอา อยากกิน อยากเสพ ฯลฯ ถ้าอะไรไม่ถูกลิ้นไม่ถูกหูไม่ถูกตาไม่ถูกใจ ตัวไม่ชอบ ก็อยากหนีไปเสีย อยากทิ้ง อยากทำลาย ฯลฯ แล้วเจตนาก็ตัดสินใจทำไปตามนั้น ความอยาก ที่ชอบใจหรือไม่ชอบใจแล้วจะเอาหรือไม่เอานี้ เรียกว่า “ตัณหา”

เป็นอันว่า ในการเคลื่อนไหวทำอะไรๆ นี้ มีปัญญาช่วยบอกช่วยส่องสว่างให้ความรู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหนเป็นอย่างไร แล้วตัณหาอยากจะเอาไม่เอาอะไร เจตนาก็สั่งให้ชีวิตร่างกายเคลื่อนไหวทำอะไรๆ ไปตามนั้น

แต่ตรงนี้ หยุดนิด มาคิดดูหน่อย การที่ชีวิตจะเคลื่อนไหวทำหรือไม่ทำอะไรนี้ ที่จริงนั้น ชีวิตมีความประสงค์ มีความต้องการ พูดง่ายๆ ว่า มีความอยากที่ลึกลงไปอีก คืออยากเป็นอยู่ อยากรอด อยากปลอดภัย อยาก

ทีนี้ ก็ถามว่า ที่ปัญญารู้ว่ามีอะไรอยู่ที่ไหนตรงไหน เป็นของกินได้หรือไม่ได้ อร่อยไหม ฯลฯ แล้วตัณหาชอบใจอยากกินอย่างไหนที่อร่อยถูกลิ้น ไม่ชอบไม่อยากกินที่เห็นว่าไม่อร่อย แล้วเจตนาก็ให้กินและไม่ให้กินไปตามเสียงชักจูงกระซิบบอกของตัณหานั้น ถามว่า อย่างนี้แค่นี้พอไหม ที่จะให้มีชีวิตดีงามสุขสมบูรณ์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |