| |
การไม่ถือชาติชั้นวรรณะ ถือความประพฤติเป็นประมาณ เช่น:  |   |  

“ดูกรวาเสฏฐะ ท่านจงรู้อย่างนี้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ใดอาศัยโครักขกรรมเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นชาวนา มิใช่พราหมณ์ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยศิลปะต่างๆ ผู้นั้นเป็นศิลปิน มิใช่พราหมณ์ ผู้ใดอาศัยการค้าขายเลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นพ่อค้า มิใช่พราหมณ์ ผู้ใดเลี้ยงชีพด้วยการรับใช้ผู้อื่น ผู้นั้นเป็นคนรับใช้ มิใช่พราหมณ์ ผู้ใดอาศัยการลักทรัพย์เลี้ยงชีพ ผู้นั้นเป็นโจร มิใช่พราหมณ์ ฯลฯ ผู้ใดปกครองบ้านเมือง ผู้นั้นเป็นราชา มิใช่พราหมณ์

“เรามิได้เรียกคนเป็นพราหมณ์ตามที่เกิดมาจากท้องมารดา ผู้นั้นยังมีกิเลส เป็นแค่สักว่า โภวาที (ธรรมเนียมพราหมณ์เรียกทักทายคนอื่นว่า “โภ”) เราเรียกคนที่ไม่มีกิเลส ไม่มีความถือมั่นต่างหาก ว่าเป็นพราหมณ์

“อันนามและโคตรที่กำหนดตั้งกันไว้นี้เป็นสักว่าโวหารในโลกเพราะเกิดมีขึ้นตามคำเรียกขานที่กำหนดตั้งกันไว้ในคราวนั้นๆ ตามทิฏฐิอันนอนเนื่องอยู่ในหทัยสิ้นกาลนานของสัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ สัตว์ทั้งหลายผู้ไม่รู้ก็พร่ำกล่าวว่าคนเป็นพราหมณ์เพราะชาติ (กำเนิด) แต่บุคคลจะเป็นพราหมณ์เพราะชาติ ก็หาไม่ จะมิใช่พราหมณ์เพราะชาติก็หาไม่ จะชื่อว่าเป็นพราหมณ์ ก็เพราะกรรม (การงานอาชีพที่ทำ )536 ไม่ใช่พราหมณ์ก็เพราะกรรม เป็นชาวนาก็เพราะกรรม เป็นศิลปินก็เพราะกรรม เป็นพ่อค้าก็เพราะกรรม เป็นคนรับใช้ก็เพราะกรรม เป็นโจรก็เพราะกรรม ฯลฯ เป็นราชาก็เพราะกรรม

“บัณฑิตทั้งหลายผู้เห็นปฏิจจสมุปบาท ฉลาดในกรรมและวิบาก ย่อมเห็นกรรมนั้นแจ้งชัดตามความเป็นจริงว่าโลกเป็นไปด้วยกรรม หมู่สัตว์เป็นไปด้วยกรรม สัตว์ทั้งหลายถูกผูกยึดกันไว้ด้วยกรรมเหมือนลิ่มสลักของรถที่กำลังแล่นไปฉะนั้น”537

“ดูกรพราหมณ์ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐ เพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าต่ำทรามเพราะความเป็นผู้เกิดในตระกูลสูงก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าต่ำทรามเพราะความเป็นผู้มีวรรณะใหญ่โตก็หาไม่ เราจะเรียกคนว่าประเสริฐเพราะความเป็นผู้มีโภคะมากมายก็หามิได้ เราจะเรียกคนว่าต่ำทรามเพราะความเป็นผู้มีโภคะมากก็หามิได้

“แท้จริงบุคคลบางคน แม้เกิดในตระกูลสูง ก็ยังเป็นผู้ชอบเข่นฆ่าลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดคำเพ้อเจ้อ เป็นคนละโมบ คิดเบียดเบียน เป็นมิจฉาทิฏฐิ538


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง