| |
- คำว่า "อริยสัจ" มีแง่ความหมายที่ควรรู้เข้าใจไว้บ้าง

ในแง่ของภาษาหรือถ้อยคำ มีข้อควรรู้เข้าใจเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “อริยสัจ” พอเป็นความรู้ ประกอบไว้เล็กน้อย

อริยสัจ ถ้าเขียนตามคำเดิมในภาษาบาลี ก็เป็น อริยสัจจ์ (อริยสจฺจฺ) ซึ่งแยกได้เป็น ๒ คํา คือ อริย + สัจจ์

อริย แปลกันมาว่า ประเสริฐ และสัจจ์ คือสัจจะ ก็แปลว่าความจริง รวมกันแล้วจึงแปลตามตัวว่า ความจริงอันประเสริฐ

แต่มีเรื่องราวที่เป็นภูมิหลังทางประวัติศาสตร์ ซึ่งเมื่อได้รู้แล้ว ก็จะช่วยให้มองเรื่องราวรวมทั้ง ความหมายของคําว่าอริยสัจนี้ลึกลงไปอีก

คําบาลี “อริย” ที่เขียนอย่างไทยเป็น อริยะ และแปลกันว่าประเสริฐนี้ มีรูปในภาษาสันสกฤตว่า “อารฺย” ซึ่งเขียนอย่างไทยเป็น อารยะ เมื่อว่าตามความเป็นมาดั้งเดิม คําว่า อริยะ หรืออารยะนี้ เป็นคํา เรียกชื่อเผ่าพันธุ์ของชนโบราณพวกหนึ่ง (ชาวตะวันตกเขียนเป็น Aryans ซึ่งไทยเราเรียกตามว่า “อารยัน”) เดิม อยู่ในเอเชียกลาง พวกอริยะ/อริยกะ/อารยะ/อารยันนี้ถนัดในการสู้รบ ได้อพยพลงมาเข้าครองอิหร่าน (Iran มีความหมายว่า “Land of the Aryans’, MS Encarta, 2009) แล้วจากอิหร่านได้ยกมาบุกรุกชมพูทวีป

เมื่อเข้าครองชมพูทวีปมั่นคงแล้ว ได้มีการจัดระบบสังคมโดยอ้างว่าพระพรหมสร้างโลก และทรงจัดแบ่งคนเป็น ๔ วรรณะ คือ กษัตริย์ (เจ้านาย) พราหมณ์ (นักบวช, เจ้าตํารา) แพศย์ (พ่อค้า) และศูทร (คนชั้นต่ํา ทาส และกรรมกร) พวกอริยะ/อริยกะ/อารยะ/อารยันนี้เป็น ๓ วรรณะต้น กดคนพื้นถิ่นเดิมลงเป็นศูทร แล้ววรรณะทั้ง ๔ นั้นก็สืบกันมาตามชาติกําเนิด คําว่าอริยะ/อารยะที่เป็นชื่อของเผ่าชนผู้ชนะ ได้กลายเป็นคําแสดงสถานะที่สูง ล้ำเลิศ อะไรๆ ที่ดีงาม ก็ต้องเป็นอริยะ ดังความหมายที่ไทยเราแปลอริยะ ว่าประเสริฐ

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะได้ค้นพบธรรมตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้ว แม้ว่าโดยพระชาติ จะทรงเป็นชนชาว อริยะ/อารยัน ในวรรณะกษัตริย์ (ขตฺติโย ชาติยา, ที.ม.10/55/59) แต่ได้ทรงตั้งสังฆะขึ้น ให้เป็นชุมชนปราศจากวรรณะ และทรงสอนคนให้ไม่ถือวรรณะ ไม่ถือสูงต่ำดูถูกกันโดยชาติกำเนิด แต่ให้นับถือกันด้วยกรรม คือการที่ทํา ธรรมที่ประพฤติ

ทรงสอนให้คนเข้าใจความหมายของอริยะที่ว่าประเสริฐเลิศล้ำนั้นใหม่ ว่าคนเป็นอริยะ/อารยะมิใช่โดยชาติกำเนิด แต่เป็นโดยศีล (ความประพฤติ) โดยธรรม (คุณภาพจิตใจ) โดยปัญญา มิใช่ด้วยความเป็นนักรบ เก่งกล้าแต่ไปเบียดเบียนเขา ดังที่ตรัสเป็นคาถาว่า คนจะเป็นอริยะด้วยการเบียดเบียนทำร้ายชีวิตทั้งหลาย ก็หาไม่ แต่ด้วยอหิงสาต่อชีวิตทั้งปวง จึงเรียกว่าเป็นอริยะ/อารยะ (ขุ.ธ.25/29/50)

พระพุทธเจ้าทรงนำประชาชนให้เปลี่ยนความคิดความเข้าใจใหม่มามองความเป็นอริยะ/อารยะว่าอยู่ที่ความจริงความดีงามที่ธรรมที่ปัญญา ดังเห็นได้ชัดในการที่ทรงใช้คำเรียกใหม่ๆ มากมายที่มี “อริย” นำหน้า เช่น อริยสาวก อริยสาวิกา (ต่อมามีอริยบุคคล) อริยธรรม (อารยธรรม) อริยวินัย อริยวงศ์ ตลอดมาถึงคำว่า อริยสัจจ์นี้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง