ไปยังหน้า : |
ในข้อนี้ พึงเข้าใจความหมายของจริยา และกรรมฐาน พอเป็นเค้า ดังนี้
กรรมฐาน แปลว่า ที่ตั้งแห่งการทำงานของจิต หรือที่ให้จิตทำงาน มีความหมายเป็นทางการว่า สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ในการเจริญภาวนา หรืออุปกรณ์ในการฝึกอบรมจิต หรืออุบายหรือกลวิธีเหนี่ยวนำสมาธิ พูดง่ายๆ ว่า สิ่งที่เอามาให้จิตกำหนด (ด้วยสติ) จิตจะได้มีงานทำเป็นเรื่องเป็นราว สงบอยู่ที่ได้ ไม่เที่ยววิ่งเล่นเตลิดหรือเลื่อนลอยฟุ้งซ่านไปอย่างไร้จุดหมาย
พูดสั้นๆ กรรมฐาน คือ สิ่งที่ใช้เป็นอารมณ์ของจิตที่จะชักนำให้เกิดสมาธิ หรืออะไรก็ได้ที่พอจิตเพ่งหรือจับแล้ว จะช่วยให้จิตแน่วแน่อยู่กับมัน เป็นสมาธิได้เร็ว และมั่นคงที่สุด พูดให้สั้นที่สุดว่า สิ่งที่ใช้ฝึกสมาธิ
เท่าที่พระอรรถกถาจารย์รวบรวมแสดงไว้ มี กรรมฐาน ๔๐ อย่าง คือ
ก. กสิณ ๑๐ แปลกันว่า วัตถุอันจูงใจ หรือวัตถุสำหรับเพ่งเพื่อจูงจิตให้เป็นสมาธิ เป็นวิธีใช้วัตถุภายนอกเข้าช่วย โดยวิธีเพ่ง เพื่อรวมจิตให้เป็นหนึ่ง มี ๑๐ อย่าง คือ
ก) ภูตกสิณ (กสิณ คือมหาภูตรูป) ๔ คือ ปฐวี (ดิน) อาโป (น้ำ) เตโช (ไฟ) วาโย (ลม)