ไปยังหน้า : |
องค์มรรค ๓ ข้อนี้ เป็นขั้นศีลด้วยกัน จึงรวมมากล่าวไว้พร้อมกัน เมื่อพิจารณาความหมายตามหลักฐานในคัมภีร์ ปรากฏคำจำกัดความทำนองยกตัวอย่าง ดังนี้
๑. “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาวาจา เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมาวาจา คือ
๑) มุสาวาทา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการพูดเท็จ
๒) ปิสุณาย วาจาย เวรมณี เจตนางดเว้นจากการพูดวาจาส่อเสียด
๓) ผรุสาย วาจาย เวรมณี เจตนางดเว้นจากการพูดวาจาหยาบคาย
๔) สมฺผปฺปลาปา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ”
๒. “ภิกษุทั้งหลาย สัมมากัมมันตะ เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมากัมมันตะ คือ
๑) ปาณาติปาตา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการตัดรอนชีวิต
๒) อทินฺนาทานา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการถือเอาของที่เขามิได้ให้
๓) กาเมสุมิจฺฉาจารา เวรมณี เจตนางดเว้นจากการประพฤติผิดในกามทั้งหลาย”
๓. “ภิกษุทั้งหลาย สัมมาอาชีวะ เป็นไฉน? นี้เรียกว่าสัมมาอาชีวะ คือ อริยสาวกละมิจฉาอาชีวะ1446 เสีย หาเลี้ยงชีพด้วยสัมมาอาชีวะ” 1447
นอกจากนี้ ยังมีคำจำกัดความแบบแยกเป็นระดับโลกิยะ และโลกุตระอีกด้วย เฉพาะระดับโลกิยะ มีคำจำกัดความอย่างเดียวกับข้างต้น ส่วนระดับโลกุตระ มีความหมายดังนี้
๑. สัมมาวาจาที่เป็นโลกุตระ ได้แก่ “ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากวจีทุจริตทั้ง ๔ ของท่านผู้มีจิตเป็นอริยะ มีจิตไร้อาสวะ มีอริยมรรคเป็นสมังคี กำลังเจริญอริยมรรคอยู่”
๒. สัมมากัมมันตะที่เป็นโลกุตระ ได้แก่ “ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากกายทุจริตทั้ง ๓ ของท่านผู้มีจิตเป็นอริยะ...”
๓. สัมมาอาชีวะที่เป็นโลกุตระ ได้แก่ “ความงด ความเว้น ความเว้นขาด เจตนางดเว้นจากมิจฉาอาชีวะของท่านผู้มีจิตเป็นอริยะ...” 1448