| |

ทำลายประโยชน์ของชาวบ้านหรือลูกชาวบ้านด้วยการกล่าวเท็จ พระราชาทั้งหลายจึงจับเขามาประหาร จองจำ เนรเทศ หรือกระทำการตามปัจจัย เพราะอทินนาทาน...กาเมสุมิจฉาจาร..มุสาวาท...สุราเมรัยฯ เป็นเหตุ, อย่างนี้เธอทั้งหลายเคยเห็น หรือเคยได้ยินบ้างไหม?”

“เคยเห็น เคยได้ยิน และจักได้ยินต่อไปด้วย พระเจ้าข้า”1460

อาชญากรรมที่ร้ายแรงแทบทั้งหมด เป็นเรื่องของการละเมิดศีล ๕ ในสังคมที่มากด้วยการสังหารผลาญชีวิต การปองร้าย การทำร้ายกัน การลักขโมย ปล้น แย่งชิง การทำความผิดทางเพศ มีคดีฆาตกรรม โจรกรรม การข่มขืน หลอกลวง การเสพของมึนเมาและสิ่งเสพติด ตลอดจนการก่อปัญหาและอุบัติเหตุต่างๆ เนื่องมาจากของมึนเมาและสิ่งเสพติดเหล่านั้น ระบาดแพร่หลายทั่วไป ชีวิตและทรัพย์สินไม่ปลอดภัย จะอยู่ไหนหรือไปที่ไหน ก็ไม่มีความมั่นใจ เต็มไปด้วยความห่วงใยวิตกกังวล จิตใจหวาดผวาบ่อยๆ ผู้คนพบเห็นกัน แทนที่จะอบอุ่นใจ ก็หวาดระแวงกัน อยู่กันไม่เป็นปกติสุข สุขภาพจิตของประชาชนย่อมเสื่อมโทรม ยากที่จะพัฒนาคุณภาพและสมรรถภาพของจิต

ในเวลาเดียวกัน สังคมเช่นนั้น ก็ไม่เป็นสภาพแวดล้อมที่เกื้อกูลสำหรับการสร้างสรรค์สิ่งดีงาม และการพัฒนาใดๆ เพราะมัววุ่นวายระส่ำระส่าย ยุ่งแต่กับการแก้ปัญหา และมีแต่กิจกรรมที่บ่อนทำลายสังคมให้เสื่อมโทรมลงไป

โดยนัยนี้ การขาดศีล ๕ จะเนื่องมาจากเหตุใดก็ตาม จึงเป็นมาตรฐานวัดความเสื่อมโทรมของสังคม ส่วนสภาพพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตที่ตรงข้ามจากนี้นั่นแหละ คือการมีศีล ๕

ดังนั้น ศีล ๕ จึงเป็นเกณฑ์มาตรฐานอย่างต่ำที่สุดของความประพฤติของมนุษย์ สำหรับรักษาสภาพแวดล้อมทางสังคมให้อยู่ในภาวะเกื้อกูล เป็นพื้นฐานของการดำเนินชีวิตที่ดีงามและการพัฒนาที่สูงขึ้นไป

พระอรรถกถาจารย์ ได้ประมวลหลักเกณฑ์บางอย่างไว้ สำหรับกำหนดว่า การกระทำแค่ไหนเพียงใด จึงจะชื่อว่าเป็นการละเมิดศีลแต่ละข้อๆ เป็นการให้ความสะดวกแก่ผู้รักษาศีล โดยจัดวางเป็นองค์ประกอบของการละเมิด เรียกว่าสัมภาระ หรือเรียกง่ายๆ ว่า “องค์

บุคคลจะชื่อว่าละเมิดศีล (เรียกกันง่ายๆ ว่าศีลข้อนั้นจะขาด) ต่อเมื่อกระทำการครบองค์ทั้งหมดของการละเมิด ดังนี้ 1461

ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ ๑. สัตว์มีชีวิต ๒. รู้อยู่ว่าสัตว์มีชีวิต ๓. จิตคิดจะฆ่า ๔. มีความพยายาม ๕. สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อ ๒ อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ ๑. ของผู้อื่นหวงแหน ๒. รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน ๓. จิตคิดจะลัก ๔. มีความพยายาม ๕. ลักของได้ด้วยความพยายามนั้น

ศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจาร มีองค์ ๔ คือ ๑. อคมนียวัตถุ ได้แก่สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด ๒. จิตคิดจะเสพ ๓. มีความพยายามในการเสพ ๔. ยังมรรคคืออวัยวะสืบพันธุ์ให้ถึงกัน


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |