ไปยังหน้า : |
อีกแห่งหนึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า สิ่งที่พระองค์ตรัสรู้มีมากมาย แต่ทรงนำมาสอนเพียงเล็กน้อย เหตุผลที่ทรงกระทำเช่นนั้น ก็เพราะทรงสอนแต่สิ่งที่เป็นประโยชน์ ใช้แก้ปัญหาได้ และสิ่งที่ประกอบด้วยประโยชน์ใช้แก้ปัญหาได้นั้น ก็คือ อริยสัจ ๔ ทำนองเดียวกับที่ตรัสในพุทธพจน์ข้างต้นนั้น ดังความในบาลีว่า
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ป่าสีสปาวัน ใกล้พระนครโกสัมพี ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงหยิบใบประดู่ลายจำนวนเล็กน้อย ถือไว้ด้วยฝ่าพระหัตถ์ แล้วตรัสกะภิกษุทั้งหลายว่า
“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายสำคัญว่าอย่างไร ใบประดู่ลายเล็กน้อย ที่เราถือไว้ด้วยฝ่ามือ กับใบที่อยู่บนต้นทั้งป่าสีสปาวัน ไหนจะมากกว่ากัน?
“ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ใบประดู่ลายจำนวนเล็กน้อย ที่พระผู้มีพระภาคทรงถือไว้ด้วยฝ่าพระหัตถ์ มีประมาณน้อย ส่วนที่อยู่บนต้น ในสีสปาวันนั่นแล มากกว่าโดยแท้
“ฉันนั้นเหมือนกัน ภิกษุทั้งหลาย สิ่งที่เรารู้ยิ่งแล้ว มิได้บอกแก่เธอทั้งหลาย มีมากมายกว่า; เพราะเหตุไรเราจึงมิได้บอก เพราะสิ่งนั้นไม่ประกอบด้วยประโยชน์ มิใช่หลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ไม่เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน
“ภิกษุทั้งหลาย อะไรเล่าที่เราบอก เราบอกว่า นี้ทุกข์ เราบอกว่า นี้ทุกขสมุทัย เราบอกว่า นี้ทุกขนิโรธ เราบอกว่า นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา; เพราะเหตุอะไรเราจึงบอก ก็เพราะข้อนี้ประกอบด้วยประโยชน์ ข้อนี้เป็นหลักเบื้องต้นแห่งพรหมจรรย์ ข้อนี้เป็นไปเพื่อนิพพิทา เพื่อวิราคะ เพื่อนิโรธ เพื่อความสงบ เพื่อความรู้ยิ่ง เพื่อนิพพาน ฉะนั้น เราจึงบอก;
“เพราะฉะนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย เธอพึงกระทำความเพียร เพื่อรู้ตามเป็นจริงว่า นี้ทุกข์ นี้ทุกขสมุทัย นี้ทุกขนิโรธ นี้ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทา” 1751
อริยสัจ ๔ เป็นหลักธรรมจำเป็น ทั้งสำหรับบรรพชิต และคฤหัสถ์ พระพุทธเจ้าจึงทรงย้ำ ให้ภิกษุทั้งหลาย สอนให้ชาวบ้านรู้เข้าใจอริยสัจ ดังบาลีว่า
“ภิกษุทั้งหลาย ชนเหล่าหนึ่งเหล่าใด ที่พวกเธอพึงอนุเคราะห์ ก็ดี เหล่าชนที่พอจะรับฟังคำสอน ก็ดี ไม่ว่าเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติ เป็นสาโลหิต ก็ตาม พวกเธอพึงชักชวน พึงสอนให้ดำรงอยู่ ให้ประดิษฐานอยู่ ในการตรัสรู้ตามเป็นจริง ซึ่งอริยสัจ ๔ ประการ” 1752
“ภิกษุทั้งหลาย อริยสัจ ๔ ประการเหล่านี้แล เป็นของแท้อย่างนั้น ไม่คลาดเคลื่อนไปได้ ไม่กลายเป็นอย่างอื่น ฉะนั้น จึงเรียกว่า อริยสัจ...
“ภิกษุทั้งหลาย ตถาคตเป็นอริยะ ในโลก พร้อมทั้งเทวะ ทั้งมาร ทั้งพรหม ในหมู่ประชา พร้อมทั้งสมณะและพราหมณ์ พร้อมทั้งเทวะและมนุษย์ ฉะนั้น จึงเรียกว่าอริยสัจ (เพราะเป็นสิ่งที่ตถาคต ผู้เป็นอริยะ ได้ตรัสรู้ และได้แสดงไว้)”1753