ไปยังหน้า : |
รวมความว่า ธรรมที่พระพุทธเจ้าตรัสรู้ พระองค์ได้ตรัสแสดงไว้ ที่เป็นหลักใหญ่มี ๒ นัย คือ ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน กับ อริยสัจ ๔ ทั้งสองนัย ว่าโดยสาระแล้ว เป็นอันเดียวกัน แต่พิจารณาต่างแง่กัน คือ
๑. ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน ตรัสในคราวปรารภที่จะทรงเริ่มประกาศธรรมว่า สิ่งที่ตรัสรู้ลึกซึ้ง ยากยิ่งนักที่สัตว์ทั้งหลายจะเข้าใจ การตรัสในแง่นี้ หมายความว่า ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน เป็นส่วนเนื้อหาสาระของการตรัสรู้ หรือพูดให้สัมพันธ์กับนัยที่สองว่า เป็นส่วนแก่นแท้ของอริยจสัจ เป็นด้านธรรมชาติและธรรมดาของมัน เป็นตัวแท้ๆ ล้วนๆ ของธรรม ซึ่งเข้าใจได้ยากอย่างยิ่ง
๒. อริยสัจ ๔ ตรัสในคราวทรงเล่าลำดับแห่งการปฏิบัติจนตรัสรู้ของพระองค์เอง และในคราวทรงแสดงธรรมสั่งสอนผู้อื่น เริ่มแต่ในปฐมเทศนา การตรัสในแง่นี้ หมายความว่า อริยสัจ ๔ คือธรรมที่ได้ตรัสรู้ทั้งหมด ซึ่งปรากฏในรูปลักษณะที่จัดเข้าลำดับเป็นกระบวนการขั้นตอน โดยคำนึงถึงความสามารถที่จะเข้าใจและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์ เพื่อมุ่งให้สอนเข้าใจง่าย และปฏิบัติได้ผล
พูดอีกอย่างหนึ่ง ปฏิจจสมุปบาทและนิพพาน เป็นแต่ธรรมล้วนๆ ตามธรรมชาติ ส่วนอริยสัจ ๔ คือธรรมในรูปที่มนุษย์จะเข้าไปเกี่ยวข้อง หรือที่นำเสนอในเชิงที่เอื้อต่อความเข้าใจและการใช้ประโยชน์ของมนุษย์
พร้อมนั้นก็พูดได้ว่า อริยสัจ ๔ คือธรรมทั้งหมด มีจุดซึ่งเป็นแก่นแท้เข้าใจยากที่สุดอยู่ที่ปฏิจจสมุปบาทและนิพพานเท่านั้น
ถ้าเข้าใจปฏิจสมุปบาทและนิพพานแล้ว ก็เป็นอันเข้าใจพุทธธรรมทั้งหมด (คือรวมทั้งอริยสัจ ๔ ด้วย)
สิ่งสำคัญยิ่งอย่างหนึ่งเกี่ยวกับอริยสัจ คือ การรู้ และทำหน้าที่ต่ออริยสัจแต่ละข้อให้ถูกต้อง ในการแสดงอริยสัจ ก็ดี ในการปฏิบัติธรรมตามหลักอริยสัจ ก็ดี จะต้องให้อริยสัจแต่ละข้อสัมพันธ์ตรงกันกับหน้าที่หรือกิจต่ออริยสัจข้อนั้น จึงจะชื่อว่าเป็นการแสดงอริยสัจ และเป็นการปฏิบัติธรรมโดยชอบ มิฉะนั้น จะทำให้เกิดความผิดพลาด ทั้งในความเข้าใจ และการประพฤติปฏิบัติ
แม้แต่ความเข้าใจผิดบางอย่างเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น เห็นว่าพระพุทธศาสนาสอนให้มองโลกในแง่ร้าย เป็นต้น ก็เกิดจากการไม่เข้าใจเรื่องกิจในอริยสัจนี้ด้วย
กิจในอริยสัจ คือ หน้าที่อันจะพึงทำต่ออริยสัจ ๔ แต่ละอย่าง หรือหน้าที่ต่ออริยสัจข้อนั้นๆ มี ๔ อย่าง ตามบาลีว่า 1762
๑. ทุกฺขํ อริยสจฺจํ ปริญฺเยฺยํ ทุกขอริยสัจ ควรกำหนดรู้ 1763
๒. ทุกฺขสมุทโย อริยสจฺจํ ปหาตพฺพํ ทุกขสมุทัยอริยสัจ ควรละ
๓. ทุกฺขนิโรโธ อริยสจฺจํ สจฺฉิกาตพฺพํ ทุกขนิโรธอริยสัจ ควรทำให้แจ้ง
๔. ทุกฺขนิโรธคามินีปฏิปทา อริยสจฺจํ ภาเวตพฺพํ ทุกขนิโรธคามินีปฏิปทาอริยสัจ ควรเจริญ
จับมาเรียงให้ดูง่าย ดังนี้