ไปยังหน้า : |
อนึ่ง มีข้อควรทราบเพิ่มเติมให้เห็นภาพกว้างออกไป ดังนี้
๑. ทุกข์ คู่กับกิจ คือ ปริญญา ในฐานะเป็นสิ่งที่ควรกำหนดรู้ ดังนั้น ทุกข์ และธรรมทั้งหลายที่อยู่ในจำพวกปัญหา หรือเป็นที่ตั้งแห่งปัญหา จึงรวมเรียกว่า ปริญไญยธรรม (ธรรมที่ควรกำหนดรู้)
๒. สมุทัย คู่กับกิจ คือ ปหานะ ในฐานะเป็นสิ่งที่ควรละ หรือกำจัด ดังนั้น ตัณหา และธรรมจำพวกที่ทำให้เกิดปัญหา เป็นเหตุแห่งทุกข์ เช่น อวิชชา โลภะ โทสะ อุปาทาน เป็นต้น จึงเรียกรวมว่า ปหาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรละ)
๓. นิโรธ คู่กับกิจ คือ สัจฉิกิริยา ในฐานะเป็นสิ่งที่ควรทำให้แจ้ง หรือควรบรรลุ ดังนั้น นิพพาน และธรรมจำพวกที่เป็นจุดหมาย หรือเป็นที่แก้ปัญหา จึงเรียกรวมว่า สัจฉิกาตัพพธรรม (ธรรมที่ควรทำให้แจ้ง)
๔. มรรค คู่กับกิจ คือ ภาวนา ในฐานะเป็นสิ่งที่ควรเจริญ คือปฏิบัติดำเนินการ ดังนั้น มรรคามีองค์ ๘ และธรรมทั้งหลายที่เป็นพวกข้อปฏิบัติ เป็นวิธีการเพื่อเข้าถึงจุดหมาย จึงรวมเรียกว่า ภาเวตัพพธรรม (ธรรมที่ควรเจริญ)
ธรรมทั้งหมด หรือสิ่งทั้งหลายทั้งปวงบรรดามี ย่อมจัดรวมเข้าในประเภทใดประเภทหนึ่ง แห่งธรรม ๔ จำพวกนี้ ไม่มีเหลือ
ในมรรคาแห่งความดับทุกข์ หรือปฏิบัติการแก้ปัญหาทั้งหลาย ตั้งแต่หยาบจนถึงละเอียด ตั้งแต่ภายนอกจนถึงลึกซึ้งภายใน ผู้ศึกษาที่สนใจ อาจคอยจับธรรมที่ตนเกี่ยวข้อง จัดเข้าในธรรม ๔ ประเภทนี้ได้เสมอ เช่น ในการปฏิบัติขั้นถึงแก่น เอาแต่สาระ พระพุทธเจ้าเคยทรงแสดงธรรม ๔ ประเภทไว้ ดังนี้ 1765
๑. (ทุกข์): ปริญไญยธรรม ได้แก่ อุปาทานขันธ์ ๕
๒. (สมุทัย): ปหาตัพพธรรม ได้แก่ อวิชชา และภวตัณหา
๓. (นิโรธ): สัจฉิกาตัพพธรรม ได้แก่ วิชชา และวิมุตติ
๔. (มรรค): ภาเวตัพพธรรม ได้แก่ สมถะ และวิปัสสนา
อรรถกถาที่เคยอ้าง 1766 ได้เปรียบเทียบอริยสัจ ๔ ไว้เป็นข้ออุปมานัยต่างๆ มีบางข้อน่าสนใจ เช่น
ก. ทุกข์ เหมือนโรค สมุทัย เหมือนสมุฏฐานของโรค
นิโรธ เหมือนความหายโรค มรรค เหมือนยารักษาโรค
ข. ทุกข์ เหมือนทุพภิกขภัย สมุทัย เหมือนฝนแล้ง
นิโรธ เหมือนภาวะอุดมสมบูรณ์ มรรค เหมือนฝนดี
ค. ทุกข์ เหมือนภัย สมุทัย เหมือนเหตุแห่งภัย
นิโรธ เหมือนความพ้นภัย มรรค เหมือนอุบายให้พ้นภัย
ง. ทุกข์ เหมือนของหนัก สมุทัย เหมือนการแบกของหนักไว้
นิโรธ เหมือนการวางของหนักลงได้ มรรค เหมือนอุบายวิธีที่จะเอาของหนักลงวาง