| |

อุปมาที่ยกมาให้ดูนี้ เป็นคำอธิบายอริยสัจอย่างที่เข้าใจได้ง่าย มองเห็นชัดเจนทันที อาจจะถือได้ว่าเพียงพอในตัวแล้ว จะจบเท่านี้ก็คงได้ แต่มีสาระบางอย่างซึ่งหากนำมาแสดงไว้ อาจจะช่วยให้เจริญปัญญามากขึ้น จึงขออธิบายเพิ่มเติมอีกตามสมควร

คัมภีร์วิสุทธิมัคค์ สัมโมหวิโนทนี และสัทธัมมปกาสินี 1767 ได้ชี้แจงเหตุผลไว้อย่างน่าฟังว่า เหตุใดพระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงอริยสัจ ๔ ไว้ โดยเรียงลำดับข้ออย่างที่เรียนรู้กันอยู่นี้ ข้อความที่ท่านกล่าวไว้ แม้จะสั้น แต่มีสาระหนักแน่น จึงขอนำมาเป็นเค้าความสำหรับกล่าวถึงอริยสัจ ๔ โดยสังเขป ต่อไปนี้

ก) ยกทุกข์ขึ้นพูดก่อน เป็นการสอนเริ่มจากปัญหา เพื่อใช้วิธีการแห่งปัญญา |  

๑. ทุกข์ คือปัญหาต่างๆ ของมนุษย์ เป็นเรื่องบีบคั้นชีวิตจิตใจ มีอยู่ทั่วไปแก่ทุกคน เกิดขึ้นแก่ใครเมื่อใด ก็เป็นจุดสนใจ เป็นของเด่นชัดแก่ผู้นั้นเมื่อนั้น แต่ว่าที่จริง ถึงจะไม่มองเฉพาะครั้งเฉพาะคน แม้มองกว้างออกไปในหมู่ชนน้อยใหญ่ จนถึงทั้งโลก ก็เห็นชัดถึงปัญหาชีวิตของมนุษย์ และทุกข์ภัยใหญ่น้อย ที่ปรากฏขึ้นมาและเป็นไปอยู่เรื่อยๆ ตลอดเวลา เป็นธรรมดา พูดขึ้นมา ก็ชัดเจน เห็นง่าย เป็นจุดสนใจอย่างยั่งยืน ยกขึ้นเป็นข้อปรารภได้เรื่อยไป โดยเฉพาะเหมาะที่จะใช้เป็นจุดเริ่มต้นในการแสดงธรรม

ยิ่งกว่านั้น ทุกข์เป็นของน่าเกลียดน่ากลัว และน่าตกใจสำหรับคนจำนวนมาก ทั้งที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง ก็ไม่อยากได้ยิน ดังจะเห็นคนที่กำลังเพลิดเพลินลุ่มหลงมัวเมา ไม่ตระหนักรู้ว่าตนเองกำลังมีปัญหา และกำลังก่อปัญหา เมื่อมีผู้มาชี้ปัญหาให้ ก็จะกระทบใจ ทำให้สะดุ้งสะเทือน และเกิดความไหวหวั่น สำหรับคนที่อยู่ในภาวะเช่นนั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนปรารภเรื่องทุกข์เพื่อกระตุ้นเตือนให้เขาฉุกใจได้คิด เป็นทางที่จะเริ่มต้นพิจารณาแก้ปัญหาดับความทุกข์กันได้ต่อไป

เมื่อแสดงอริยสัจโดยตั้งต้นที่ทุกข์ ก็เป็นการสอนที่เริ่มจากปัญหา เริ่มจากสิ่งที่มองเห็นกันอยู่ เข้าใจง่าย เริ่มจากเรื่องที่น่าสนใจ และโดยเฉพาะเป็นการสอนเรื่องที่เกี่ยวข้องกับคน ไม่ใช่เรื่องเลื่อนลอย ไม่ใช่เรื่องคิดเพ้อฝัน หรือสักว่าพูดตีฝีปาก เมื่อพูดกับใครก็เป็นเรื่องเกี่ยวข้องกับคนนั้น เมื่อพูดเป็นกลางๆ ก็เกี่ยวข้องกับทุกคน

พระพุทธเจ้าทรงสอนเรื่องทุกข์ มิใช่เพื่อให้เป็นทุกข์ แต่เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นที่จะดับทุกข์ เพราะทรงรู้ว่าทุกข์หรือปัญหานั้น เป็นสิ่งที่แก้ไขได้ ดับได้ มิใช่เป็นของเที่ยงแท้แน่นอนที่จะต้องคงอยู่ตลอดไป ชีวิตนี้ ที่ยังคับข้อง ก็เพราะมีทุกข์มีปัญหาคอยรบกวนอยู่ ถ้าดับทุกข์แก้ปัญหาแล้ว หรือได้สร้างความสามารถในการดับทุกข์แก้ปัญหาไว้พร้อมแล้ว ชีวิตก็ปลอดโปร่งโล่งเบา พบสุขแท้จริง

แต่การดับทุกข์ หรือแก้ไขปัญหานั้น มิใช่ทำได้ด้วยการหลบเลี่ยงปัญหา หรือปิดตาไม่มองทุกข์ ตรงข้าม ต้องใช้วิธีรับรู้สู้หน้าเผชิญดูมัน การรับรู้สู้หน้า มิใช่หมายความว่าจะเข้าไปแบกทุกข์ไว้ หรือจะให้ตนเป็นทุกข์ แต่เพื่อรู้เท่าทัน จะได้แก้ไขกำจัดมันได้ พูดง่ายๆ ว่า ไม่ใช่ไปเอาทุกข์มาใส่ในใจ แต่เอาปัญญาไปแก้ไขจัดการ

การรู้เท่าทันนี้ คือการทำหน้าที่ต่อทุกข์ให้ถูกต้อง ได้แก่ทำปริญญา คือ ใช้ปัญญาดูทั่วรอบ ทำความเข้าใจสภาวะของทุกข์ หรือปัญหานั้น ให้รู้ว่าทุกข์หรือปัญหาของเรานั้น คืออะไรกันแน่ อยู่ที่ไหน (บางทีคนชอบหลบเลี่ยงทุกข์หนีปัญหา และทั้งที่รู้ว่ามีปัญหา แต่จะจับให้ชัด ก็ไม่รู้ว่าปัญหาของตนนั้นคืออะไร ได้แต่เห็นคลุมๆ เครือๆ หรือพร่าสับสน) มีขอบเขตแค่ใด เมื่อกำหนดจับทุกข์ได้อย่างนี้ ก็เป็นอันเสร็จหน้าที่ต่อทุกข์ เหมือนแพทย์ตรวจอาการจนรู้โรค รู้จุดที่เป็นโรคแล้ว ก็หมดภาระไปขั้นหนึ่ง


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |