| |

ปัจจุบันนี้ ความเข้าใจและความรู้สึกของคนทั่วไปเกี่ยวกับนิพพาน และความเป็นพระอรหันต์ ได้เปลี่ยนแปลงไปมาก การมองนิพพานโดยฐานเป็นเมืองแก้วแห่งบรมสุขนิรันดรอย่างในสมัยโบราณ ได้กลายไปเป็นความรู้สึกว่าหมดสิ้นขาดสูญ ยิ่งมาเหินห่างจากคำสอนของพุทธศาสนา และถูกความนิยมปรนเปรอทางวัตถุ ซ้ำเข้าอีก คนยุคปัจจุบันก็เลยมักมีความรู้สึกต่อนิพพานในทางลบ เห็นเป็นภาวะที่พึงเบือนหรือผละหนี อย่างน้อยก็รู้สึกว่าเป็นสิ่งที่อยู่ห่างไกลเหลือเกิน ซึ่งไม่เห็นเหตุผลที่จะต้องเข้าไปเกี่ยวข้อง

ในสภาพเช่นนี้ นอกจากจะต้องพยายามสร้างความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับนิพพานให้เกิดขึ้นแล้ว มีภูมิธรรมระดับหนึ่งที่ควรช่วยกันชักจูงคนให้หันมาสนใจ คือความเป็นโสดาบัน ซึ่งเป็นอริยบุคคลระดับต้นหรือสมาชิกกลุ่มแรกในชุมชนอารยะ

ความจริง ความเป็นโสดาบันนี้ เป็นสิ่งที่ควรสนใจ ไม่เฉพาะในระหว่างที่กำลังสร้างความเข้าใจเกี่ยวกับนิพพานและความเป็นพระอรหันต์เท่านั้น แม้ตามปกติก็เป็นข้อที่ควรเน้นเสมออยู่แล้ว แต่มักถูกละเลยหรือมองข้ามกันไปเสีย

ที่กล่าวว่า ความเป็นโสดาบัน ก็ดี ภูมิธรรมและการดำเนินชีวิตระดับนี้ ก็ดี เป็นสิ่งที่ควรจะสนใจและเน้นกันให้มากนั้น แม้พระพุทธองค์เอง ก็ได้ตรัสแนะนำย้ำไว้ว่า

“ภิกษุทั้งหลาย เหล่าชน ทั้งคนที่พวกเธอพึงอนุเคราะห์ และคนที่พอจะรับฟังคำสอน ไม่ว่าจะเป็นมิตร เป็นผู้ร่วมงาน เป็นญาติ หรือสาโลหิตก็ตาม พวกเธอพึงชักชวน พึงสอนให้ตั้งอยู่ ให้ดำรงมั่น ในองค์คุณของโสดาบัน ๔ ประการ”1774

ภาวะและชีวิตของพระโสดาบัน ไม่ห่างไกล และไม่น่ากลัวเลย สำหรับปุถุชนทั้งหลาย แม้ในสมัยปัจจุบัน กลับจะเป็นที่น่าชื่นชมอย่างยิ่งสำหรับสาธุชนด้วยซ้ำ

พุทธสาวกโสดาบันจำนวนมากมายในพุทธกาล เป็นคฤหัสถ์ ดำเนินชีวิตที่ดีงาม ชอบด้วยศีลธรรม อยู่ท่ามกลางสังคมของชาวโลก มีชีวิตครอบครัวที่เป็นสุข บำเพ็ญประโยชน์แก่ชุมชน แก่พระศาสนาและแก่บ้านเมือง มีชีวประวัติที่น่ายึดถือเป็นแบบอย่าง

ท่านเหล่านี้ แม้จะได้บรรลุภูมิธรรมสูงแล้ว แต่ยังมีกิเลสละเอียดเหลืออยู่ เมื่อประสบความพลัดพราก ยังโศกเศร้าร่ำไห้ 1775 ยังมีรักมีโกรธดังสามัญชน แต่ละเมียดเบาบางกว่า และจะไม่ทำความชั่วความผิดที่เสียหายร้ายแรง และความทุกข์ที่เหลืออยู่ ก็มีเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับทุกข์ส่วนใหญ่ที่ละได้แล้ว เป็นผู้มีพื้นฐานอันมั่นคง ที่จะนำชีวิตของตนเดินทางก้าวหน้าไป ในมรรคาแห่งความสุขที่ไร้โทษ และกุศลธรรมที่ไพบูลย์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |