| |

กระบวนของสังขารขันธ์ที่ว่ามีกำลังพลมากมายนั้น ดูกันแค่เป็นตัวอย่าง

ตัวนำ/ตัวหนุน: เจตนา (พึงให้เป็น กุศลเจตนา) มนสิการ (พึงให้เป็น โยนิโสมนสิการ-รู้จักคิดแยบคาย) ฉันทะ (พึงให้เป็น กัตตุกัมยตาฉันทะ-ความอยากทำให้ดีงามสมบูรณ์) วิริยะ ปีติ สมาธิ

ฝ่ายร้าย:โมหะ อหิริกะ (ไม่อายบาป) อโนตตัปปะ (ไม่กลัวบาป) อุทธัจจะ (ฟุ้งซ่านวุ่นวายใจ) โลภะ ทิฏฐิ มานะ (อยากใหญ่) โทสะ อิสสา (ริษยา) มัจฉริยะ กุกกุจจะ (กลุ้มกังวล) ถีนะ (หดหู่ท้อถอย) มิทธะ (หงอยซึม) วิจิกิจฉา (ลังเล)

ฝ่ายดี: ศรัทธา สติ หิริ โอตตัปปะ จาคะ (ใจกว้าง เสียสละ มีน้ำใจ) เมตตา กรุณา มุทิตา ตัตรมัชฌัตตุเบกขา (ใจลงตัวนิ่งเป็นกลางมองดูอย่างชัดตรง) ปัสสัทธิ (กายใจสงบผ่อนคลาย) กัมมัญญตา (ความถนัดพร้อมจะทำ) ปัญญา

จุดเน้นที่พึงย้ำไว้ ดังที่ว่าแล้ว เจตนาเป็นหัวหน้าเป็นตัวนำทำการในนามของกองสังขารทั้งหมด สังขารจะออกแสดงเป็นความคิดพูดทำอย่างไร ก็แล้วแต่เจตนาตัดสิน แต่เจตนาจะเอาอย่างไร ก็อยู่ที่ว่ากำลังพลตัวไหนในฝ่ายใด คือในฝ่ายดี หรือฝ่ายร้าย จะเข้ามาประกบเจตนานั้น

แต่ทั้งนี้ สังขารตัวสำคัญยิ่งใหญ่ที่สุดก็คือปัญญา ซึ่งเมื่อพัฒนาขึ้นมา ก็จะช่วยชี้นำส่องทางตลอดจนขยายวิสัยให้แก่เจตนา พร้อมทั้งปรับแปรแก้ไขเจตนานั้น ตลอดถึงว่าเมื่อปัญญาพัฒนารู้ชัดเจนแจ่มแจ้ง เจตนาก็จะทำหน้าที่แค่เพียงเป็นตัวสนองงานของปัญญา ซึ่งให้ทำไปตามที่รู้ชัดแจ้ง โดยไม่ต้องคิดเลือกตัดสินใจ ถึงขั้นที่เรียกว่ามีชีวิตเป็นอยู่ด้วยปัญญา นั่นคือเมื่ออวิชชาหมดหาย กลายเป็นวิชชา ก็สลายวงจรของปัจจยาการ ถึงภาวะปัจจยักขัยจบการพัฒนา

เท่าที่บรรยายมาในตอนนี้ เป็นการรู้เข้าใจความจริงของธรรมชาติตามที่มันเป็น และมองเห็นตามหลักการว่าการที่จะเป็นไปอย่างนั้นๆ การที่จะเกิดผลอย่างนี้ๆ จะสำเร็จได้ด้วยการทำเหตุปัจจัยอะไรๆ แต่สำหรับวิธีปฏิบัติว่าจะทำอย่างไร เช่นว่าการที่จะพัฒนาสังขาร การที่จะพัฒนาปัญญา มีแนวทางและขั้นตอนในการปฏิบัติอย่างไรบ้างนั้นเป็นเรื่องของภาคปฏิบัติในมัชฌิมาปฏิปทา ที่จะบอกระบบวิธีปฏิบัติในการพัฒนามรรคาชีวิต ด้วยการศึกษาที่เป็นสิกขา ซึ่งจะพูดกันในภาคมัชฌิมาปฏิปทาข้างหน้า

คนหรือชีวิตมนุษย์นี้ เป็นองค์รวมซึ่งมีองค์ประกอบครบ ทั้งรูปธรรมและนามธรรมที่พัฒนาสูงสุดพรั่งพร้อมถ้ารู้เข้าใจปัจจยาการของชีวิตมนุษย์ที่เป็นขันธโลกนี้แจ้งชัด ก็จะเป็นความรู้เข้าใจโลกของธรรมชาติทั้งหมดไปด้วย

กฎธรรมชาติ ๒: ภาวะเป็นไป/อาการ(สัมพันธ์) กับ ภาวะปรากฏ/ลักษณะ
กฏธรรมชาติชุดที่ ๒ มองได้ด้วยกฏที่ ๑

ก่อนเดินเรื่องต่อไป ขอทบทวนความที่ผ่านมาเล็กน้อย เป็นอันได้เข้าใจกันแล้วว่า ธรรม สิ่ง สภาวะ หรือสภาวธรรม ที่เกิดมีเป็นไปตามเหตุปัจจัย อยู่ในกระบวนของปัจจยาการนั้น เรียกว่าสังขตธรรม หรือสังขารในความหมายกว้าง นี่คือ สังขารอันได้แก่สังขตธรรมทั้งหมดนั้น ไม่ว่าจะเป็นรูปธรรม หรือนามธรรม ดังเช่นขันธ์ ๕ ทั้งหมด ที่เป็นชีวิตของมนุษย์ เป็นไปตามเหตุปัจจัยหมดทั้งสิ้น และนี่ก็คือ สังขารคือสังขตธรรมทั้งหมดนั้นเป็นไปตามกฎธรรมชาติ ที่เรียกว่า ปัจจยาการ หรืออิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาท

พร้อมกันนั้น ก็ได้รู้เข้าใจกันด้วยว่า สภาวะที่สิ้นปัจจัย เป็นปัจจยักขัย ซึ่งเรียกว่าอสังขตธรรมหรือวิสังขารนั้นพ้นไป ไม่อยู่ใต้กฎธรรมชาติแห่งปัจจยาการนี้

ที่นี้ นอกจากกฎธรรมชาติแห่งปัจจยาการ หรืออิทัปปัจจยตา ปฏิจจสมุปบาทนี้แล้ว พระพุทธเจ้าได้ทรงแสดงกฎธรรมชาติอีกชุดหนึ่ง ซึ่งเป็นการประกาศความจริงอีกด้านหนึ่งของสภาวธรรมทั้งปวง ทั้งสังขตธรรม และอสังขตธรรม ดังที่ได้ตรัสไว้ดังนี้


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |