| |

บนฐานของความรู้เข้าใจเข้าถึงระบบและกระบวนการของสภาวธรรมที่เป็นธรรมดาของธรรมชาตินั้น พระพุทธเจ้าได้ทรงนำความรู้เข้าใจนั้นมาประยุกต์สั่งสอนแสดงระบบและกระบวนวิธีปฏิบัติของมนุษย์ที่จะให้เกิดผลเป็นไปตามระบบและกระบวนการของธรรมชาตินั้น โดยทรงจัดวางเป็นมรรคาชีวิตของคน หรือพูดอีกอย่างหนึ่งว่า บนฐานแห่งสัจธรรม ได้ทรงจัดวางระบบจริยธรรม ที่เรียกว่าพรหมจริยะ หรือมรรคขึ้นมา เป็นวิถีของอิสรภาพและความสุข ที่ปลอดทุกข์ไร้ปัญหาดังที่ว่านั้น อันจะกล่าวในภาคของมัชฌิมาปฏิปทาข้างหน้าต่อไป

แต่ก่อนจะก้าวสู่มัชฌิมาปฏิปทาที่เป็นส่วนรายละเอียดนั้น ณ ที่นี้ เมื่อพูดถึงภาพรวมของมัชเฌนธรรมเทศนาแล้ว ก็ขอกล่าวถึงจริยธรรมอย่างกว้างขวางโดยรวมไว้ให้เห็นทางปฏิบัติทั่วไปก่อน

ตามกฎแห่งไตรลักษณ์และปัจจยาการว่า สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยง คงอยู่ไม่ได้ จะต้องสลายตัว เปลี่ยนแปลงไปโดยเป็นไปตามเหตุปัจจัย มนุษย์จึงต้องดำเนินชีวิตแห่งความไม่ประมาท ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเป็นปัจฉิมวาจา คือพระดำรัสสุดท้ายก่อนปรินิพพานว่า “สังขารทั้งหลายมีความเสื่อมสลายไปเป็นธรรมดา เธอทั้งหลายจงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม”*10

ความไม่ประมาท คือการที่มนุษย์ถึงและทันกับกาลเวลา ถึงและทันกับความเป็นไปของเหตุปัจจัย ทันกันกับธรรมชาติและทุกสิ่งทุกอย่าง ไม่ละเลย ไม่เพิกเฉยเฉื่อยชา ไม่ปล่อยเวลาให้เสียไป แต่ใช้เวลาให้เป็นประโยชน์ โดยมีสติ ตื่นตัว ทันต่อความเปลี่ยนแปลงเคลื่อนไหว ที่เป็นสัญญาณแห่งความเสื่อมความเจริญ ด้วยการใช้ปัญญาอยู่เสมอ*11 ที่จะแก้ไขปัญหาและปฏิบัติจัดการด้วยความรู้ทั่วถึงเหตุปัจจัย

ความประมาท-ไม่ประมาท และกฎธรรมชาติแห่งไตรลักษณ์ และปัจจยาการนี้ เป็นหลักที่มนุษย์จะต้องคำนึงทุกเมื่อ คู่กับความเสื่อม-ความเจริญ ทั้งของชีวิต และของสังคม คือเป็นการจัดการกับความเสื่อมและความเจริญนั้น ซึ่งเป็นความเปลี่ยนแปลงที่เป็นไปตามเหตุปัจจัย

เรื่องของสภาวธรรม ในแง่ของธรรมชาตินั้น ตามกฎแห่งไตรลักษณ์ และปฏิจจสมุปบาทหรือปัจจยาการ สิ่งทั้งหลายไม่เที่ยงไม่คงที่ คงทนอยู่ไม่ได้ ก็ดับสลายผันแปรเปลี่ยนแปลงไป โดยเป็นไปตามเหตุปัจจัยดังที่ว่าแล้ว และในแง่ของสภาวธรรมในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร มันก็คือความเปลี่ยนแปลง

แต่ในความหมายของมนุษย์ ถือความเปลี่ยนแปลงทางหนึ่งว่าเป็นความเจริญ เรียกความเปลี่ยนแปลงอีกทางหนึ่งว่าเป็นความเสื่อม และความเปลี่ยนแปลงในอาการต่างๆ นั้น จะเป็นความเจริญแล้วเสื่อมลง ก็ได้ เสื่อมแล้วเจริญขึ้น ก็ได้ เสื่อมแล้วเสื่อมลงไปอีก ก็ได้ เจริญแล้วเจริญยิ่งขึ้นไปอีก ก็ได้ ทั้งหมดนี้ก็คือความเปลี่ยนแปลง ซึ่งล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัย เฉพาะอย่างยิ่งปัจจัยที่มนุษย์นั้นเองเป็นผู้กระทำ

พระพุทธเจ้าทรงย้ำความสำคัญ และตรัสสอนอยู่เสมอ ถึงการปฏิบัติจัดการที่จะป้องกันความเสื่อมที่ยังไม่มี ที่จะแก้ไขให้พ้นความเสื่อมที่มีขึ้นแล้ว ที่จะทำให้เกิดมีความเจริญขึ้น ที่จะรักษาความเจริญนั้นไว้และทำให้เจริญยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์

ทั้งนี้ ตั้งแต่ในระดับบุคคล ดังที่ตรัสสอนภิกษุให้เพียรพยายามที่จะลดละอกุศล เพียรพยายามบรรลุธรรมที่ยังไม่บรรลุ เพียรพยายามรักษาธรรมที่บรรลุแล้วมิให้เสื่อมลงหรือลดหาย และทำให้เจริญงอกงามยิ่งขึ้นไปจนไพบูลย์


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |