| |

ความหมายง่ายๆ แง่หนึ่งสำหรับแสดงความสัมพันธ์ภายในวงจรปฏิจจสมุปบาทช่วงนี้ เช่น เมื่อประสบสิ่งใด ได้รับเวทนาอันอร่อย ก็เกิดตัณหาชอบใจอยากได้สิ่งนั้น แล้วเกิด กามุปาทาน ยึดติดในสิ่งที่อยากได้นั้น ว่าจะต้องเอาต้องเสพต้องครอบครองสิ่งนั้นให้ได้ เกิด ทิฏฐุปาทาน ยึดถือมั่นว่า ต้องอย่างนี้จึงจะดี ได้อย่างนี้จึงจะเป็นสุข ต้องได้เสพเสวยครอบครองสิ่งนี้หรือประเภทนี้ ชีวิตจึงจะมีความหมาย หลักการหรือคำสอนอะไรๆ จะต้องส่งเสริมการแสวงหาและได้มาซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงจะถูกต้อง เกิด สีลัพพตุปาทานว่า เมื่อจะประพฤติปฏิบัติศีล พรต ขนบธรรมเนียม ระเบียบ แบบแผนอย่างใดๆ ก็มองในแง่เป็นวิธีการที่จะให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น หรือจะต้องเป็นเครื่องมือให้ได้มาซึ่งสิ่งที่อยากได้นั้น จึงจะยอมหรือคิดหายกขึ้นมาประพฤติปฏิบัติ และเกิด อัตตวาทุปาทาน ยึดติดถือมั่นในตัวตนที่จะได้จะเสพจะครอบครองสิ่งที่อยากได้นั้น

ว่าโดยสรุป อุปาทานทำให้มนุษย์ปุถุชนมีจิตใจไม่ปลอดโปร่งผ่องใส ความคิดไม่แล่นคล่องไปตามกระบวนการแห่งเหตุปัจจัย ไม่สามารถแปลความหมาย ตัดสิน และกระทำการต่างๆ ไปตามแนวทางแห่งเหตุปัจจัยตามที่มันควรจะเป็น โดยเหตุผลบริสุทธ์ แต่มีความติดข้อง ความเอนเอียง ความคับแคบ ความขัดแย้ง และความรู้สึกถูกบีบคั้นอยู่ตลอดเวลา

ความบีบคั้นเกิดขึ้นเพราะความยึดว่าเป็นตัวเรา ของเรา เมื่อเป็นตัวเราของเรา ก็ต้องเป็นอย่างที่เราอยากให้เป็น แต่สิ่งทั้งหลายเป็นไปตามเหตุปัจจัย ไม่ใช่เป็นไปตามที่เราอยากให้เป็น เมื่อมันไม่อยู่ในบังคับความอยาก กลับเป็นอย่างอื่นไปจากที่อยากให้เป็น ตัวเราก็ถูกขัดแย้งกระทบกระแทกบีบคั้น สิ่งที่ยึดถูกกระทบเมื่อใด ตัวเราก็ถูกกระทบเมื่อนั้น สิ่งที่ยึดไว้มีจำนวนเท่าใด ตัวเราแผ่ไปถึงไหน ยึดไว้ด้วยความแรงเท่าใด ตัวเราที่ถูกกระทบ ขอบเขตที่ถูกกระทบ และความแรงของการกระทบ ก็มีมากเท่านั้น และผลที่เกิดขึ้น มิใช่แต่เพียงความทุกข์เท่านั้น แต่หมายถึงชีวิตที่เป็นอยู่และกระทำการต่างๆ ตามอำนาจความยึดความอยาก ไม่ใช่เป็นอยู่และทำการด้วยปัญญาตามเหตุปัจจัย 357

ต่อจากอุปาทาน กระบวนการดำเนินต่อไปถึงขั้น ภพ ชาติ ชรามรณะ จนเกิดโสกะ ปริเทวะ เป็นต้น ตามแนวที่อธิบายแล้ว เมื่อเกิดโสกะ ปริเทวะ เป็นต้นแล้ว บุคคลย่อมหาทางออกด้วยการคิด ตัดสินใจ และกระทำการต่างๆ ตามความเคยชิน ความโน้มเอียง ความเข้าใจ และความคิดเห็นที่ยึดมั่นสะสมไว้อีก โดยไม่มองเห็นภาวะที่ประสบในขณะนั้นๆ ตามที่มันเป็นของมันจริงๆ วงจรจึงเริ่มขึ้นที่อวิชชา แล้วหมุนต่อไปอย่างเดิม

แม้อวิชชาจะเป็นกิเลสพื้นฐาน เป็นที่ก่อตัวของกิเลสอื่นๆ แต่ในขั้นแสดงออกเป็นพฤติกรรมต่างๆ ตัณหาย่อมเป็นตัวชักจูง เป็นตัวบงการและแสดงบทบาทที่ใกล้ชิดเห็นได้ชัดเจนกว่า ดังนั้น ในทางปฏิบัติ เช่นในอริยสัจ ๔ จึงกำหนดว่า ตัณหาเป็นเหตุให้เกิดทุกข์

เมื่ออวิชชา เป็นไปอย่างมืดบอดเลื่อนลอย ตัณหาไม่มีหลัก ไม่ถูกควบคุม เป็นไปสุดแต่จะให้สนองความต้องการได้สำเร็จ ย่อมมีทางให้เกิดกรรมฝ่ายชั่วมากกว่าฝ่ายดี แต่เมื่ออวิชชาถูกปรุงดัดแปลงด้วยความเชื่อถือในทางที่ดีงาม ความคิดที่ถูกต้อง ความเชื่อความเข้าใจที่มีเหตุผล ตัณหาถูกชักจูงให้เบนไปสู่เป้าหมายที่ดีงาม ถูกควบคุมขัดเกลา และขับให้พุ่งไปอย่างมีจุดหมาย ก็ย่อมให้เกิดกรรมฝ่ายดี และเป็นประโยชน์ได้อย่างมาก และถ้าได้รับการชักนำอย่างถูกต้อง ก็จะเป็นเครื่องอุปถัมภ์ สำหรับกำจัดอวิชชาและตัณหาได้ต่อไปด้วย


เกี่ยวกับพุทธธรรมออนไลน์ (Disclaimer)
"เนื้อหาที่เผยแพร่ในระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" นี้ เป็นเนื้อหาที่มีการปรับปรุงเพิ่มเติมหลังการพิมพ์ครั้งที่ ๕๓ เพื่อช่วยในการศึกษาค้นคว้าของผู้สนใจ โดยยังมิได้ผ่านการตรวจสอบของสมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ ประกอบกับหนังสือพุทธธรรมนี้ มีการปรับปรุงเพิ่มเติมเป็นระยะ แม้ระบบ "พุทธธรรม ออนไลน์" พยายามปรับปรุงข้อมูลให้เป็นปัจจุบันมากที่สุด ผู้ศึกษาก็พึงตรวจสอบกับตัวเล่มหนังสือต้นฉบับ ที่มีการพิมพ์ครั้งล่าสุด ก่อนนำข้อมูลไปใช้ในการอ้างอิง"

  |  
หนังสือที่เกี่ยวข้อง